ไปหน้าแรก

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ 350

สัจจบรรพ

พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงจำแนกธัมมานุปัสสนาโดยโพชฌงค์ ๗

ประการ อย่างนี้แล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงจำแนกสัจจะ ๔ ประการ จึงตรัสว่า

ปุน จปรํ ยังมีอีกข้อหนึ่ง ดังนี้เป็นต้น.

อริยสัจ ๔

ในคำเหล่านั้น คำว่า รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์เป็นต้น ความว่า

รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งธรรมที่เป็นไปในภูมิ ๓ เว้น ตัณหาว่า นี้ทุกข์ รู้ชัด

ตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่งตัณหาที่มีอยู่ก่อน. อันทำทุกข์นั้นนั่นแล ให้เกิด ให้

ปรากฏขึ้น นี้ทุกขสมุทัย รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริงซึ่งความดับคือ หยุดทุกข์

และทุกขสมุทัยทั้งสองว่า นี้ ทุกขนิโรธ รู้ชัดตามสภาพที่เป็นจริง ซึ่ง อริยมรรค

อันเป็นเหตุกำหนดรู้ทุกข์ เป็นเหตุละสมุทัย เป็นเหตุทำให้แจ้งนิโรธว่า นี้ทุกข

นิโรธคามินีปฏิปทา. กถาว่าด้วยสัจจะที่เหลือเว้นกถาว่าด้วยบท ภาชนะ แจก

บทแห่งทุกข์มีชาติเป็นต้น ท่านกล่าวไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วเทียว.

อธิบายบทภาชนะ

ชาติ

ส่วนในบทภาชนะ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้ คำว่า กตมา จ ภิกฺ-

ขเว ชาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ชาติเป็นอย่างไร ความว่า ดูก่อนภิกษุทั้ง

หลาย ก็ชาติอันใด ที่เรากล่าวอย่างนี้ว่า แม้ชาติก็เป็นทุกข์ ชาติอันนั้นเป็น

อย่างไร. พึงทราบอรรถในปุจฉาทั้งปวง อย่างนี้. คำว่า ของสัตว์เหล่านั้น ๆ

อันใดนี้ เป็นคำกำหนดรวมสัตว์ไว้ทั้งหมดโดยไม่มีกำหนดว่า ของเหล่าสัตว์ชื่อนี้.

แม้คำว่าในหมู่สัตว์นั้นๆนี้ เป็นคำกำหนดรวมหมู่สัตว์ไว้ทั้งหมด. ความเกิดชื่อว่า

ชาติ. คำว่าชาตินี้ เป็นชื่อของขันธ์ที่เกิดจำเพาะทีแรก พร้อมด้วยความเปลี่ยน

แปลง. คำว่าสัญชาตินี้ เป็นไวพจน์ (แทน) ของชาตินั่นเอง แต่ประกอบด้วย

อุปสรรค. ความเกิดนั่นแล ชื่อว่า โอกฺกนฺติ ก้าวลง ด้วยอรรถว่า ก้าวลง

โดยอาการที่เข้าไปโดยลำดับ ชื่อว่า อภินิพฺพตฺติ เกิดจำเพาะ ด้วยอรรถว่า

เกิดเฉพาะ กล่าวคือ เกิด ทั้ง ๔ อย่างนี้ ชื่อว่ากล่าวโดยสมมัติ. ส่วนบาลี

ขนฺธานํ ปาตุภาโว ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายนี้ กล่าวโดยปรมัตถ์.

ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายนั่นแล ที่แยกเป็นขันธ์หนึ่ง ขันธ์สี่ และ ขันธ์ห้า

ในบรรดาหมู่สัตว์ที่มีขันธ์หนึ่งเป็นต้นนั่นเอง ไม่ใช่ความปรากฏแห่งบุคคล.

แต่เมื่อความปรากฏแห่งขันธ์นั้นมีอยู่. ก็สมมติเรียกกันว่า บุคคลปรากฏดังนี้.

คำว่า อายตนานํ ปฏิลาโภ ความได้อายตนะทั้งหลาย ความว่า อายตนะ

ทั้งหลายปรากฏอยู่นั่นแล เป็นอันชื่อว่าได้มา นั้นชื่อว่าความได้มาที่กล่าว

ได้ว่าความปรากฏแห่งอายตนะเหล่านั้น.

ชรา

ศัพท์ว่า ชรา เป็นศัพท์แสดงถึงสภาพความเป็นเอง. ศัพท์ว่า ชีรณตา

แสดงถึงภาวะ คืออาการ. ศัพท์ว่า ขณฺฑิจฺจํ เป็นต้น คือแสดงถึงภาวะเปลี่ยน

แปลง จริงอยู่ เวลาเป็นหนุ่มสาว ฟันก็เรียบขาว. ครั้นหง่อมเข้า ฟันเหล่านั้น

ก็เปลี่ยนสีไปโดยลำดับ หลุดตกไปในที่นั้น ๆ. อนึ่ง ฟันหัก หมายถึงฟันที่

หลุดร่วง และที่ยังอยู่ ชื่อว่า ขณฺฑิตา. ภาวะแห่งฟันที่หักเรียกว่า ขณฺฑิจฺจํ

ความที่ฟันหัก. ผมและขน คร่ำคร่าไปโดยลำดับ ชื่อว่าผมหงอก. ผมหงอก

เกิดพร้อมแล้วแก่บุคคลนั้น เหตุนั้น บุคคลนั้น ชื่อว่า มีผมหงอก. ภาวะแห่ง

บุคคลผู้มีผมหงอก ชื่อว่า ปาลิจฺจํ ความที่ผมหงอก. เกลียวที่หนังของบุคคล

นั้น มีอยู่ เพราะมีเนื้อและเลือดแห้งไปด้วยถูกลม คือ ชราประหาร เหตุนั้น

บุคคลนั้นชื่อว่ามีหนังเป็นเกลียว (เหี่ยว). ภาวะแห่งบุคคลผู้มีหนังเป็นเกลียวนั้น

ชื่อว่า วลิตฺตจตา ความที่หนังเหี่ยว. ด้วยถ้อยคำมีประมาณเพียงเท่านี้เป็นอัน

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงชรา ที่เปิดเผย อันปรากฏชัด โดยแสดงความ

เปลี่ยนแปลง ในฟัน ผม ขน หนัง. ทางไปของลม หรือไฟ จะปรากฏได้

ก็เพราะลมพัดถูกหญ้า หรือต้นไม้เป็นต้น หักระเนระนาด หรือไฟไหม้ แต่

ทางไปของลม และไฟนั้นก็หาปรากฏไม่ฉันใด ทางไปแห่งชราก็ฉันนั้นเหมือน

กันจะปรากฏได้ก็โดยภาวะมีฟันหักเป็นต้น แห่งอาการ ๓๒ มีฟันเป็นต้น

แม้บุคคลลืมตาดู ก็จับไม่ได้ ความคร่ำคร่าแห่งอาการมีฟันหักเป็นต้น หาใช่ตัว

ชราไม่ เพราะชราจะพึงรู้ทางจักษุมิได้. แต่เพราะเมื่อถึงชรา อายุเสื่อมไป

ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสโดยผลใกล้เคียงว่า ความเสื่อมไปแห่งอายุ

เรียกว่า ชรา. อนึ่ง เพราะเวลาเป็นหนุ่มสาว อินทรีย์ทั้งหลายมีจักษุเป็นต้น

แจ่มใสดี สามารถรับอารมณ์ของคน แม้ที่ละเอียดได้ให้สะดวกทีเดียว เมื่อถึง

ชรา ก็แก่งอม ขุ่นมัว ไม่ผ่องใสไม่สามารถรับอารมณ์ของตน แม้ที่หยาบได้

ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสโดยผลใกล้เคียงว่า ความแก่งอมแห่งอินทรีย์

ทั้งหลายเรียกว่า ชรา ดังนี้บ้าง.

มรณะ

ในมรณนิทเทส มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้

ศัพท์ว่า ยํ หมายถึง มรณะ เป็นศัพท์แสดง นุปํสกลิงค์ (ไม่ใช่

เพศชาย เพศหญิง ทางไวยากรณ์). ในคำว่า ยํ นั้น พึงประกอบความดังนี้ว่า

มรณะ ท่านเรียกว่า จุติ เรียกว่า จวนตา. ในศัพท์เหล่านั้น ศัพท์ว่า จุติ

แสดงถึงสภาพที่เป็นเอง. ศัพท์ว่า จวนตา แสดงถึงภาวะ คือ อาการ. เมื่อ

บุคคลถึงมรณะแล้ว ขันธ์ทั้งหลายย่อมแตก และหายไป แลไม่เห็น เพราะ

ฉะนั้น มรณะนั้น จึงเรียกว่า ความแตก ความหายไป ความมอดม้วย. บทว่า

มัจจุมรณะ คือ มัจจุมรณะ มิใช่ ขณิกมรณะ (ตายชั่วขณะ). การทำ

กาละคือ ตาย ชื่อว่า กาลกิริยา. แม้ทั้งหมดนี้ กล่าวโดยสมมติทั้งนั้น. ส่วน

บาลีว่า ขนฺธานํ เภโท นี้ เป็นการกล่าวโดยปรมัตถ์. ความแตกแห่งขันธ์

ทั้งหลาย ที่แยกเป็นขันธ์หนึ่ง ขันธ์สี่ และขันธ์ห้า ในบรรดาหมู่สัตว์ที่มี

ขันธ์หนึ่งเป็นต้นนั่นเอง มิใช่ความแตกแห่งบุคคล. แต่เมื่อความประชมพร้อม

แห่งขันธ์มีอยู่ ก็สมมติเรียกว่า บุคคลตาย. การทอดทิ้งอัตตภาพ ชื่อว่าการ

ทอดทิ้งซากศพ. จริงอยู่ เมื่อบุคคลถึงความตาย อัตตภาพก็ตกเป็นเหมือน

ท่อนไม้ ไร้ประโยชน์ฉะนั้น เพราะฉะนั้น มรณะนั้นท่านจึงเรียกว่า การ

ทอดทิ้งซากศพ. ส่วนความขาดแห่งชีวิตินทรีย์ เมื่อว่าโดยปรมัตถ์

โดยอาการทั้งปวงก็คือมรณะ. มรณะนั้นนั่นแหละ เรียกว่า สมมติมรณะ.

ชาวโลกถือเอาความขาดแห่งชีวิตินทรีย์เท่านั้น จึงพูดว่า ติสสะ ตาย ผุสสะ

ตาย ดังนี้.

โสกะ

บทว่า พฺยสเนน ด้วยความวิบัติ ความว่า ด้วยความวิบัติอย่างใด

อย่างหนึ่ง บรรดาความวิบัติทั้งหลาย มีความวิบัติจากญาติเป็นต้น. บทว่า

ทุกฺขธมฺเมน อันทุกขธรรม ความว่า อันเหตุแห่งทุกข์ มีการฆ่า และ

จองจำเป็นต้น. บทว่า ผุฏฺฐสฺส ถูกต้องแล้ว ได้แก่ท่วมทับ ครอบงำแล้ว.

คำว่า โสกะ ได้แก่ความโศก อันมีความแห้งใจเป็นลักษณะ ย่อมเกิดแก่

บุคคล ในเมื่อถูกความวิบัติ มีความวิบัติจากญาติเป็นต้น หรือเหตุแห่งทุกข์

มีการฆ่า การจองจำเป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง ครอบงำแล้ว. ความเป็นผู้

เศร้าโศก ได้แก่ ความเศร้าโศก. ก็ความเศร้าโศกนั้นเกิดขึ้นทำภายในให้แห้ง

ให้แห้งผาก เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ความเศร้าใจ ความแห้งใจภายใน ดังนี้.

ปริเทวะ

คนทั้งหลาย ยึดถืออย่างนี้ว่า ลูกหญิงของเรา ลูกชายของเรา ดังนี้

ย่อมคร่ำครวญรำพัน ด้วยความยึดถือนั้น เหตุนั้น ความยึดถือนั้น จึงชื่อว่า

เป็นเหตุคร่ำครวญ. คนทั้งหลาย รำพันยกยอคุณนั้น ๆ ด้วยเหตุนั้น เพราะ

ฉะนั้น เหตุนั้น จึงชื่อว่า เป็นเหตุรำพัน. ศัพท์ทั้งสอง (อาเทวนา ปริเทวนา)

นอกจากอาเทวะ ปริเทวะ นั้น เป็นศัพท์แสดงภาวะแห่งความคร่ำครวญ รำพัน

นั้นนั่นแหละ.

ทุกขโทมนัส

ความทุกข์ อันมีกายประสาท เป็นที่ตั้ง (ที่เกิด) เพราะอรรถว่า

ทนได้ยาก ชื่อว่าทุกข์ทางกาย. คำว่า ไม่ชื่นใจ คือไม่หวานใจ. คำว่า

ทุกข์ที่เกิดแต่กายสัมผัส คือทุกข์ที่เกิดจากสัมผัสทางกาย คำว่า เวทนา

ที่ไม่น่าชื่นใจ คือ เวทนา ที่ไม่น่าชอบใจ. โทมนัสสัมปยุตกับจิต ชื่อว่า

เจตสิก ได้แก่โทมนัสทางใจ. คำที่เหลือมีนัยดังกล่าวมาแล้วในทุกข์นั่นแล.

อุปายาส

บทว่า อายาโส ได้แก่ ความลำบากทางใจ อันถึงอาการ คือความ

ท้อแท้ห่อเหี่ยว. ความคับใจโดยภาวะมีกำลังแรง ชื่อว่า ความคับแค้นใจ.

ศัพท์ทั้งสอง (อายาสิตฺตกํ อุปายาสิตฺตํ) นอกจาก อายาสะ และอุปายาสะ

นั้น เป็นธรรมเนื่องอยู่ในตน ส่องภาวะ ชี้ภาวะ.

การไม่สมควรปรารถนาเป็นทุกข์

บทว่า ชาติธมฺมานํ มีความเกิดเป็นธรรมดา คือมีความเกิดเป็น

สภาวะ. สองบทว่า อิจฺฉา อุปฺปชฺชติ ความปรารถนาย่อมเกิด คือตัณหา

ย่อมเกิด. คำว่า อโห วต ได้แก่ความปรารถนา. บทว่า น โข ปเนตํ อิจฺฉาย

ข้อนั้น ไม่พึงได้ด้วยความปรารถนาแล ความว่า ข้อนั้น คือความไม่ต้อง

มาเกิด เว้นมรรคภาวนาเสีย บุคคลไม่พึงบรรลุได้ด้วยปรารถนา. คำว่า อิทํปิ

แม้นี้ คือแม้อันนี้. ปิอักษร ในคำว่า อิทมฺปิ หมายถึงบทที่เหลือข้างหน้า.

บทว่า ยมฺปิจฺฉํ ปรารถนาสิ่งใด ความว่า. บุคคลปรารถนาสิ่งที่ไม่พึงได้

ย่อมไม่ได้. เพราะธรรมใด ความปรารถนาในสิ่งที่ไม่พึงได้ นั้นก็เป็นทุกข์. ทุกๆ

บทก็นัยนี้เหมือนกัน. ในขันธนิทเทสมีวินิจฉัยดังนี้. รูปนั้นด้วย อุปาทานขันธ์

ด้วย เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า รูปูปาทานขันธ์. ทุก ๆ ขันธ์ก็พึงทราบอย่างนี้.

สมุทัยอริยสัจ

คำว่า ยายํ ตณฺหา ตัดเป็น ยา อยํ ตณฺหา แปลว่า ตัณหานี้ใด.

คำว่า โปโนพฺภวิกา มีวิเคราะห์ว่า การทำภพใหม่ ชื่อว่า ภพใหม่ ภพใหม่นั้น

เป็นปกติแห่งตัณหานั้น เหตุนั้น ตัณหานั้น จึงชื่อว่า โปโนพฺภวิกา มี

ความเกิดอีกเป็นปกติ. คำว่า นนฺทิราคสหคตา ได้แก่ตัณหาที่เกิดร่วม

ด้วยความกำหนัด ด้วยอำนาจความเพลิดเพลิน. ท่านอธิบายว่า โดยอรรถ

ตัณหานั้น ก็เป็นอันเดียวกันกับนันทิราคะนั่นเอง. ในคำเหล่านั้น คำว่า ตตฺรตตฺ-

ราภินนฺทินี เพลิดเพลินในอารมณ์นั้น ๆ ความว่า อัตตภาพ เกิดจำเพาะใน

ที่ใด ๆ ตัณหาก็เพลิดเพลินในที่นั้น ๆ. อีกนัยหนึ่ง ตัณหามักเพลิดเพลินใน

อารมณ์ทั้งหลาย มีรูปเป็นต้น ชื่อว่าในที่นั้น ๆ. อธิบายว่า เพลิดเพลินในรูป

เพลิดเพลินในเสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์. ศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ

เป็นศัพท์นิบาต. ศัพท์ว่า เสยฺยถีทํ นั้นมีความว่า ถ้ามีคำถามว่า ตัณหานั้น

เป็นไฉน. ความอยากในกาม ชื่อว่ากามตัณหา. คำว่ากามตัณหานั้น เป็นชื่อของ

ความกำหนัดเกี่ยวด้วยกามคุณ ๕. ความอยากในภพ ชื่อว่า ภวตัณหา.

คำว่า ภวตัณหานี้เป็นชื่อของความกำหนัด ในรูปภพและอรูปภพ อันเกิดพร้อม

ด้วยสัสสตทิฏฐิ ที่เกิดโดยความปรารถนาภพ และความยินดีในฌาน. ความ

อยากในวิภพ ชื่อว่า วิภวตัณหา. คำว่า วิภวตัณหานี้ เป็นชื่อของความ

กำหนัดที่เกิดพร้อมด้วยอุจเฉททิฏฐิ. บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเพื่อจะทรงแสดง

วัตถุที่ตั้ง ที่เกิด แห่งตัณหานั้นโดยพิสดาร จึงตรัสว่า สา โข ปเนสา

ก็ตัณหานี้นั้นแล ดังนี้เป็นต้น.

บรรดาคำเหล่านั้น คำว่า อุปฺปชฺชติ แปลว่า เกิด. คำว่า นิวีสติ

ได้แก่ ตั้งอยู่โดยความเป็นไปบ่อยๆ. คำว่า ยํ โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ ความว่า

เป็นสภาวะที่รักและสภาวะที่ชอบใจในโลก. ในคำว่า จกฺขุ โลเก เป็นต้น

มีอธิบายดังนี้ จริงอยู่ สัตว์ทั้งหลาย ถือมั่นในจักษุเป็นต้นในโลกโดยความ

เป็นของ ๆ เรา ตั้งมั่นอยู่ในสมบัติ ย่อมสำคัญจักษุ (ตา) ของตน อันมี

ประสาททั้ง ๕ แจ่มใส เหมือนหน้าต่างแก้วมณี อันเผยขึ้นแล้วในวิมานทอง

ด้วยทำนองถือเอานิมิต ในกระจกเป็นต้น ย่อมสำคัญโสต (หู ) เหมือนหลอดเงิน

และเหมือนด้ายร้อยสังวาลย์ ย่อมสำคัญ ฆานะ (จมูก) ที่ได้โวหารเรียกว่า

ตุงฺคนาสา (จมูกโด่ง) เหมือนขั้วหรดาลที่เขาปั้นตั้งไว้ ย่อมสำคัญ ชิวหา

(ลิ้น) อันอ่อนสะอาดคอยรับรสอร่อย เหมือนพื้นผ้ากัมพลแดง ย่อมสำคัญกาย

เสมือนต้นสาละหนุ่ม และเสมือนเสาระเนียดทอง ย่อมสำคัญ มนะ (ใจ)

อันโอฬาร (ของตน) ไม่เหมือนกับใจของคนอื่น ๆ ย่อมสำคัญรูป ประหนึ่ง

ว่ามีผิวพรรณดังดอกกัณณิการ์ทองเป็นต้น ย่อมสำคัญเสียง ประหนึ่งเสียงนก

การะเวก และดุเหว่า ที่น่าคลั่งไคล้ และเสียงกังวานของปี่แก้วที่เป่าแผ่ว ๆ

ย่อมสำคัญอารมณ์มีคันธารมณ์ (หอม) เป็นต้น อันมีสมุฏฐาน ๔ ที่ตนได้แล้ว

ว่าอารมณ์เห็นปานนี้ ของคนอื่นใครเล่า จะมี. เมื่อสัตว์เหล่านั้นสำคัญอยู่อย่างนี้

จักษุเป็นต้นเหล่านั้น ก็ย่อมเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ. เมื่อเป็นเช่นนั้น ตัณหา

ของสัตว์เหล่านั้น ที่ยังไม่เกิด ก็ย่อมเกิดในจักษุเป็นต้นนั้น และตัณหาที่เกิด

แล้ว ก็ย่อมตั้งอยู่โดยความเป็นไปบ่อย ๆ. เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

จึงตรัสว่า จักษุเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจ ในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ก็เกิด

ที่จักษุนั้น ดังนี้เป็นต้น. คำว่า ตตฺถ อุปฺปชฺชมานา อุปฺปชฺชติ ความว่า

ตัณหานั้น เมื่อเกิดในกาลใด ก็ย่อมเกิดที่จักษุนี้ในกาลนั้น. ทุก ๆ บทก็นัยนี้.

ทุกขนิโรธอริยสัจ

บททั้งปวงมีบทว่า อเสสวิราคนิโรโธ ความดับด้วยสำรอกโดย

ไม่เหลือเป็นต้น ทั้งหมดเป็นไวพจน์ของพระนิพพานนั่นเอง. จริงอยู่ ตัณหา

มาถึงพระนิพพานย่อมคลาย ดับไม่เหลือ เพราะฉะนั้น พระนิพพานนั้น จึงตรัส

เรียกว่า ความดับ ด้วยคลายไม่เหลือ แห่งตัณหานั้นนั่นแล. อนึ่ง ตัณหา

มาถึงพระนิพพาน ย่อมละ สละคืน ปล่อย ไม่ติด เพราะฉะนั้น พระนิพพาน

จึงตรัสเรียกว่า เป็นที่ละ สละ ปล่อย ไม่ติด. แท้จริง พระนิพพานก็มี

อย่างเดียวเท่านั้น. แต่ชื่อของพระนิพพานนั้นมีมาก โดยเป็นปฏิปักษ์ต่อชื่อของ

สังขตธรรม ทั้งหมด. คืออย่างไร คือธรรมเป็นที่คายไม่เหลือ เป็นที่ดับไม่เหลือ

เป็นที่ละ เป็นที่สละ เป็นที่พ้น เป็นที่ไม่ติด เป็นที่สิ้นราคะ เป็นที่สิ้นโทสะ

เป็นที่สิ้นโมหะ เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่ไม่เกิด เป็นที่หยุด ไม่มีนิมิต ไม่มี

ที่ตั้ง ไม่มีที่อาศัย ไม่มีปฏิสนธิ ไม่เป็นไป ไม่ไป ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ

ไม่ตาย ไม่โศก ไม่คร่ำครวญ ไม่คับแค้น ไม่เศร้าหมอง ดังนี้เป็นต้น. บัดนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะทรงแสดงความไม่มีแห่งตัณหาทั้งปวง ที่มรรคตัด

ได้แล้ว ถึงความหยุด (ไม่เป็นไป) เพราะมาถึงพระนิพพาน ในวัตถุที่

พระองค์ทรงแสดงว่า ตัณหาเกิดนั่นแหละ จึงตรัสว่า สา โข ปเนสา ก็ตัณหา

นี้นั้นดังนี้ เป็นต้น.

พึงทราบวินิจฉัยในคำนั้น ดังต่อไปนี้ เหมือนอย่างว่า บุรุษพบเถาน้ำ

เต้าขม ที่เกิดในนาแล้ว จับตั้งแต่ยอด ค้นหาโคนพบแล้ว ตัดออกเสีย เถานั้น

ก็เหี่ยวแห้งโดยลำดับ ถึงความไม่ปรากฏ ที่นั้น เขาก็เรียกกันว่า เถาน้ำเต้าขม

ในนานั้น ดับแล้ว ละแล้ว ตัณหาในจักษุเป็นต้น เปรียบเหมือนเถาน้ำเต้าขม

ในนา ตัณหานั้น ตัดรากได้ด้วยอรหัตตมรรค ถึงความหยุด (งอก) เพราะมาถึง

พระนิพพาน อนึ่ง ตัณหาอันถึงความหยุดอย่างนั้นแล้ว ย่อมไม่ปรากฏในวัตถุ

เหล่านั้น เหมือนเถาน้ำเต้าขมไม่ปรากฏในนาฉะนั้น. อนึ่ง เปรียบเหมือนพวก

มนุษย์นำโจรมาจากดง พึงฆ่าเสียที่ประตูด้านทิศใต้ แห่งพระนคร แต่นั้น คน

ทั้งหลายจะพึงพูดกันว่าพวกโจรในดง ตายแล้ว หรือถูกฆ่าตายแล้ว ดังนี้ ฉัน ใด

ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตัณหาในจักษุเป็นต้น เปรียบเหมือนโจรในดง ตัณหานั้น

ชื่อว่า ดับไปในพระนิพพานนั่นเอง เพราะมาถึงพระนิพพานแล้วจึงดับไป

เหมือนโจรถูกฆ่าที่ประตูทิศใต้ฉะนั้น อนึ่ง ตัณหาอันดับแล้วอย่างนั้น ย่อมไม่

ปรากฏในวัตถุเหล่านั้น เหมือนโจรไม่ปรากฏในดงฉะนั้น. เพราะฉะนั้น พระ

ผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงแสดงความดับแห่งตัณหานั้น ในจักษุเป็นต้นนั้น

จึงตรัสว่า จักษุเป็นที่รัก เป็นที่ชื่นใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละก็ละได้

ที่จักษุนั้น เมื่อจะดับ ก็ดับที่จักษุนั้นดังนี้เป็นต้น

ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

คำว่า อยเมว เป็นคำกำหนดแน่ชัดเพื่อปฏิเสธมรรคอื่น. คำว่า อริโย

ความว่า มรรคชื่อว่าอริยะ เพราะไกลจากกิเลสทั้งหลาย อันมรรคนั้น ๆ พึงฆ่า

และเพราะทำความเป็นพระอริยะ. ทรงแสดงกัมมัฏฐานว่าด้วยสัจจะ ๔ ด้วยคำว่า

รู้ในทุกข์ เป็นต้น. ในสัจจะ ๔ นั้น ๒ สัจจะต้น (ทุกข สมุทัย) เป็นวัฏฏ-

สัจจะ ๒ สัจจะหลัง (นิโรธ มรรค) เป็นวิวัฏฏสัจจะ. ในวัฏฏสัจจะ และ

วิวัฏฏสัจจะเหล่านั้น ความตั้งมั่นแห่งกัมมัฏฐานของภิกษุ ย่อมมีในวัฏฏสัจจะ

ไม่มีในวิวัฏฏสัจจะ ก็พระโยคาวจรกำหนดสัจจะ ๒ เบื้องต้น ในสำนักอาจารย์

โดยย่อ อย่างนี้ว่า ปัญจขันธ์เป็นทุกข์ ตัณหาเป็นสมุทัย และพิสดารโดยนัย

เป็นต้นว่า ปัญจขันธ์เป็นไฉน คือรูปขันธ์ดังนี้แล้ว ทบทวน (ท่องบ่น) ชื่อว่า

ทำกรรมในสัจจะ ๒ เหล่านั้น. ส่วนในสัจจะ ๒ นอกนี้ พระโยคาวจร ย่อม

ทำกรรม ด้วยการฟังอย่างเดียว อย่างนี้ว่า นิโรธสัจ น่าปรารถนา น่าใคร่

น่าพอใจ มรรคสัจ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ. พระโยคาวจรนั้น เมื่อทำอยู่

อย่างนี้ ย่อมแทงตลอดสัจจะทั้ง ด้วยปฏิเวธญาณอันเดียว ย่อมตรัสรู้ด้วย

อภิสมยญาณอันเดียว คือแทงตลอดทุกขสัจจะ ด้วยปฏิเวธ คือปริญญากิจ แทง

ตลอดสมุทัยด้วยปหานกิจ แทงตลอดนิโรธสัจจะ ด้วยสัจฉิกิริยากิจ แทงตลอด

มรรคสัจจะ ด้วยภาวนากิจ. ย่อมตรัสรู้ทุกขสัจจะ ด้วยอภิสมยญาณ คือปริญญากิจ

ตรัสรู้สมุทัยสัจจะ ด้วยปหานกิจ ตรัสรู้นิโรธสัจจะ ด้วยสัจฉิกิริยากิจ ตรัสรู้

มรรคสัจจะ ด้วยภาวนากิจ. ในเบื้องต้น พระโยคาวจรนั้น มีปฏิเวธญาณใน

สัจจะ ๒ เบื้องต้น ด้วยการกำหนด การสอบถาม การฟัง การทรงจำ และ

การพิจารณา ส่วนในสัจจะ ๒ เบื้องปลาย พระโยคาวจรมีปฎิเวธญาณ ด้วย

อำนาจการฟังอย่างเดียว ในภายหลัง จึงมีปฏิเวธญาณในสัจจะ ๓ โดยกิจ มี

ปฏิเวธญาณในนิโรธสัจโดยอารมณ์. ส่วนปัจจเวกขณญาณมีแก่พระโยคาวจร

ผู้บรรลุสัจจะแล้ว. และพระโยคาวจรนี้ เป็นผู้เริ่มบำเพ็ญเพียร เพราะฉะนั้น

จึงไม่ตรัสปัจจเวกขณญาณนั้นไว้ในที่นี้. อนึ่ง เมื่อภิกษุนี้กำหนดรู้ในเบื้องต้น

ความคำนึง รวบรวมใจ ใส่ใจ และพิจารณาว่า เรากำหนดรู้ทุกข์ เราละสมุทัย

เราทำให้แจ้งนิโรธ เราเจริญมรรค ดังนี้ ยังไม่มี จะมีได้ตั้งแต่การกำหนด

ไป. ส่วนในเวลาภายหลัง ทุกข์ก็เป็นอันชื่อว่ากำหนดรู้แล้ว สมุทัยก็เป็นอัน

ละเสียแล้ว นิโรธก็เป็นอันทำให้แจ้งแล้ว มรรคก็เป็นอันทำให้เกิดแล้ว.

ในสัจจะเหล่านั้น สัจจะ ๒ เบื้องต้น ชื่อว่า ลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยาก

สัจจะ ๒ เบื้องหลัง ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง. ความจริง ทุกขสัจปรากฏ

ตั้งแต่เกิดมา ถึงกับกล่าวกันว่า ทุกข์หนอ ในเวลาที่ถูกตอและหนามตำเป็นต้น.

แม้สมุทัยสัจก็ปรากฏตั้งแต่เกิดมา ด้วยอำนาจอยากเคี้ยว อยากกินเป็นต้น. แต่

แม้ทั้งสองสัจจะนั้นก็ชื่อว่าลึกซึ้ง โดยลักษณะ และการแทงตลอด. สัจจะ ๒ นั้น

ชื่อว่าลึกซึ้ง เพราะเห็นได้ยากด้วยประการฉะนี้. ส่วนความพยายามเพื่อเห็น

สัจจะ ๒ นอกนี้ ก็เป็นเหมือนเหยียดมือจับภวัคคพรหม เหยียดเท้าไปต้องอเวจี-

นรก และเป็นเหมือนเอาปลายขนทราย กับปลายขนทรายที่แยกออก ๗ ส่วน

ให้จดติดกัน. สัจจะ ๒ เบื้องปลายเหล่านั้น ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง

ด้วยประการฉะนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า นี้ ความรู้ในทุกข์ดังนี้เป็นต้น

ทรงหมายถึงความเกิดญาณอันเป็นส่วนเบื้องต้น ในสัจจะ ๔ ที่ชื่อว่าลึกซึ้ง

เพราะเห็นได้ยาก และที่ชื่อว่าเห็นได้ยาก เพราะลึกซึ้ง ด้วยอำนาจการกำหนด

เป็นต้น ด้วยประการฉะนี้. ส่วนในขณะแทงตลอด ญาณ (ปฏิเวธญาณ) นั้น

ก็มีหนึ่งเท่านั้น.

สัมมาสังกัปปะ

ความดำริมีความดำริออกจากกามเป็นต้น ต่างกันในเบื้องต้น เพราะ

สัญญาในอันงดเว้นจากกามพยาบาทและวิหิงสาต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรค

ความดำริฝ่ายกุศลอันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์มรรคบริบูรณ์ โดยให้สำเร็จ

ความไม่เกิดแห่งความดำริฝ่ายอกุศล ที่เกิดแล้วในฐาน ๓ เหล่านี้ เพราะตัดทาง

แห่งความดำริฝ่ายอกุศลนั้นได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ.

สัมมาวาจา

แม้กุศลธรรมมีเจตนางดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้น ก็ต่างกันในเบื้องต้น

เพราะสัญญาในการงดเว้นจากมุสาวาทเป็นต้นต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรค

เจตนางดเว้นฝ่ายกุศลอันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์มรรคบริบูรณ์ โดยให้

สำเร็จความไม่เกิดแห่งเจตนาเครื่องทุศีลฝ่ายอกุศลที่เกิดแล้ว ในฐานะ ๔ เหล่านี้

เพราะตัดทางแห่งเจตนาเครื่องทุศีลฝ่ายอกุศลนั้นได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมาวาจา.

สัมมากัมมันตะ

แม้กุศลธรรม มีเจตนางดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ก็ต่างกันใน

เบื้องต้น เพราะสัญญาในการงดเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ต่างกัน. แต่ในขณะ

แห่งมรรค เจตนางดเว้นฝ่ายกุศล อันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์แห่งมรรค

บริบูรณ์ โดยให้สำเร็จความไม่เกิด แห่งเจตนาเครื่องทุศีลฝ่ายอกุศลที่เกิดแล้ว

ในฐานะ ๓ เหล่านี้ เพราะตัดทางได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมากัมมันตะ.

สัมมาอาชีวะ

คำว่า มิจฉาอาชีวะ ได้แก่กายทุจริตและวจีทุจริต ที่เป็นไปเพื่อต้อง

การของเคี้ยวของกินเป็นต้น. คำว่า ละ คือเว้น. คำว่า ด้วยสัมมาอาชีวะ

คือด้วยอาชีพที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญ. คำว่า สำเร็จชีวิต คือดำเนินการ

เลี้ยงชีพ. ที่ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ ต่างกันในเบื้องต้น เพราะสัญญาในการงดเว้น

จากทุจริตมีมุสาวาทเป็นต้น ต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรคเจตนางดเว้นฝ่ายกุศล

อันเดียวเท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์แห่งมรรคบริบูรณ์โดยให้สำเร็จความไม่เกิดแห่ง

เจตนาเครื่องทุศีล อันเป็นมิจฉาอาชีวะ ที่เกิดแล้วในฐานะเจ็ด (กายทุจริต

๓ วจีทุจริต ๔) เหล่านี้แหละ เพราะตัดทางได้ขาด นี้ชื่อว่า สัมมาอาชีวะ.

สัมมาวายามะ

คำว่า ที่ยังไม่เกิด คือที่ยังไม่เกิดแก่ตนในภพหนึ่ง หรือในอารมณ์

เห็นปานนั้น. แต่พระโยคาวจรเห็นบาปอกุศลธรรม ที่กำลังเกิดแก่คนอื่น ย่อม

ยังฉันทะให้เกิด ปรารภความเพียร ประคองตั้งจิตไว้ เพื่อไม่ให้เกิดบาปอกุศล

ที่ยังไม่เกิด ด้วยคิดอย่างนี้ว่า โอหนอ บาปอกุศลธรรม เห็นปานนั้น ไม่พึง

เกิดแก่เราดังนี้. คำว่า ฉนฺทํ ชเนติ ย่อมยังฉันทะให้เกิด คือ ให้เกิดความ

พอใจในความเพียรที่ให้สำเร็จข้อปฏิบัติอันไม่ให้เกิดบาปอกุศลเหล่านั้น. คำว่า

วายมติ พยายาม คือ ทำความพยายาม. คำว่า วิริยํ อารภติ ปรารภ

ความเพียร คือดำเนินความเพียร. คำว่า จิตฺตํ ปคฺคณฺหาติ ประคองจิต

คือ ทำการประคองจิตด้วยความเพียร. คำว่า ปทหติ ตั้งไว้ คือดำเนินการ

ตั้งความเพียรว่า จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูก ก็ตามทีเถิด ดังนี้. คำว่า

อุปฺปนฺนานํ ที่เกิดแล้ว คือที่เคยเกิดแล้วแก่ตน โดยการกำเริบขึ้น ย่อมให้

เกิดฉันทะ เพื่อละบาปอกุศล เหล่านั้นว่า บัดนี้เราจักไม่ให้บาปอกุศลเช่นนั้น

เกิดขึ้นละ. คำว่า อนุปฺปนฺนานํ กุสลานํ กุศลที่ยังไม่เกิด คือ กุศลธรรม

มีปฐมฌานเป็นต้น ที่ตนยังไม่ได้. คำว่า อุปฺปนฺนานํ ที่เกิดแล้ว คือกุศลธรรม

เหล่านั้นนั่นแหละที่ตนได้แล้ว. คำว่า  ิติยา เพื่อตั้งมั่น คือ เพื่อตั้งอยู่

โดยการเกิดต่อเนื่องกันบ่อย ๆ. คำว่า อสมฺโมสาย เพื่อไม่ขาดสาย คือเพื่อ

ไม่ให้สูญเสีย. คำว่า ภิยฺโยภาวาย เพื่อมียิ่ง ๆ คือ เพื่อเจริญยิ่งขึ้นไป.

คำว่า เวปุลฺลาย คือเพื่อความไพบูลย์. คำว่า ภาวนาย ปาริปูริยา คือเพื่อ

ความมีบริบูรณ์. แม้สัมมาวายามนี้ก็ต่างกันในเบื้องต้น เพราะจิตที่คิดไม่ให้เกิด

อกุศลที่ยังไม่เกิดเป็นต้นต่างกัน. แต่ในขณะแห่งมรรค วิริยะฝ่ายกุศลอันเดียว

เท่านั้น เกิดขึ้นให้องค์แห่งมรรคบริบูรณ์ โดยให้สำเร็จกิจ ในฐานะ ๔ เหล่านี้

เหมือนกัน นี้ชื่อว่า สัมมาวายามะ.

สัมมาสติ

แม้สัมมาสติ ก็ต่างกันในเบื้องต้น เพราะจิตที่กำหนดอารมณ์มีกาย

เป็นต้นต่างกัน แต่ในขณะแห่งมรรค สติอย่างเดียวเท่านั้นเกิดขึ้นให้องค์แห่ง

มรรคบริบูรณ์ โดยให้สำเร็จกิจในฐานะ ๔ นี้ชื่อว่า สัมมาสติ.

สัมมาสมาธิ

ฌานทั้งหลาย ต่างกัน ทั้งในเบื้องต้น ทั้งในขณะแห่งมรรค. ใน

เบื้องต้นต่างกันโดยสมาบัติ. ในขณะแห่งมรรค ต่างกัน โดยมรรค. จริงอยู่

มรรคที่ ๑ แห่งมรรคขณะหนึ่ง มีปฐมฌานเป็นบาท แม้มรรคที่ ๒ เป็นต้น

มีปฐมฌานเป็นบาทบ้าง มีฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง ในทุติยฌานเป็นต้น เป็น

บาทบ้าง. มรรคที่ ๑ แห่งมรรคขณะแม้อันหนึ่งมีฌานอย่างใดอย่างหนึ่งแห่ง

ทุติยฌานเป็นต้นเป็นบาท แม้มรรคที่ ๒ เป็นต้น ก็มีฌานอย่างใดอย่างหนึ่ง

แห่งทุติยฌานเป็นต้น เป็นบาทบ้าง มีปฐมฌานเป็นบาทบ้าง. มรรคทั้ง ๔ ว่า

โดยฌานเหมือนกันก็มี ต่างกันก็มี เหมือนกันบางแห่งก็มี ด้วยประการฉะนี้.

นี้เป็นความแผกกันแห่งมรรคนั้น โดยกำหนดโดยฌานที่เป็นบาท. พึงทราบ

อธิบายโดยกำหนดด้วยฌานเป็นบาทก่อน มรรคที่เกิดแก่พระโยคาวจรผู้ได้

ปฐมฌาน ออกจากปฐมฌาน เจริญวิปัสสนาอยู่ ชื่อว่ามีปฐมฌานเป็นบาท.

ก็องค์แห่งมรรค และโพชฌงค์ ย่อมบริบูรณ์ในปฐมฌานนี้โดยแท้. มรรคที่เกิด

แก่พระโยคาวจรผู้ได้ทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว เจริญวิปัสสนาอยู่ชื่อว่า

มีทุติยฌานเป็นบาท. ส่วนองค์มรรคในทุติยฌานนี้ มี ๗ ประการ. มรรคที่เกิด

แก่พระโยคาวจรผู้ออกจากตติยฌานแล้วเจริญวิปัสสนาอยู่ ชื่อว่ามีตติยฌานเป็น

บาท. ส่วนองค์มรรคในตติยฌานนี้มี ๗ แต่โพชฌงค์มี ๖ ประการ. สำหรับพระ-

โยคาวจรผู้ออกจากจตุตถฌาน จนถึงเนวสัญญานาสัญญายตนะก็นัยนี้เหมือนกัน.

ฌานหมวด ๔ และหมวด ๕ ย่อมเกิดในอรูป และฌานนั้นท่านกล่าวว่า เป็น

โลกุตตระ ไม่ใช่โลกิยะ. ถามว่าในฌานมีปฐมฌานเป็นต้นนี้เป็นอย่างไร. ตอบว่า

ในฌานมีปฐมฌานเป็นต้นแม้นี้ พระโยคาวจรนั้น ออกจากฌานใดแล้ว ได้โสดา-

ปัตติมรรค เจริญอรูปสมาบัติแล้วเกิดในอรูปภพ มรรคทั้ง ๓ มีฌานนั้นเป็นบาท

เกิดขึ้นแก่พระโยคาวจรนั้น ในอรูปภพนั้น. ท่านกำหนดมรรคที่มีฌานเป็นบาท

อย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้. แต่พระเถระบางเหล่ากล่าวว่า กำหนดขันธ์เป็น

อารมณ์แห่งวิปัสสนา. บางเหล่าก็ว่ากำหนดอัธยาศัยบุคคล. บางเหล่าก็ว่า กำหนด

วิปัสสนา อันเป็นวุฏฐานคามินี. วินิจฉัยวาทะของพระเถระเหล่านั้น พึงทราบ

ตามนัยที่ท่านกล่าวไว้ ในอธิการว่าด้วยวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คัมภีร์วิสุทธิมรรค.

คำว่า อยํ วุจฺจติ ภิกฺขเว สมฺมาสมาธิ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า

สัมมาสมาธิ ความว่าธรรมนี้ เบื้องต้นเป็นโลกิยะ เบื้องหลัง เรียกว่า

โลกุตตระ สัมมาสมาธิ.

คำว่า อิติ อชฺญตฺตํ วา หรือภายในเป็นต้น ความว่า พิจารณาเห็น

ธรรมในธรรมทั้งหลาย เพราะกำหนดสัจจะ ๔ ของตน ของคนอื่น หรือ เพราะ

กำหนดสัจจะ ๔ ของตนตามกาล ของคนอื่นตามกาลอย่างนี้อยู่. ส่วนความ

เกิดและความเสื่อมในสัจจบรรพนี้ พึงทราบโดยความเกิดและความหมดไปแห่ง

สัจจะ ๔ ตามเป็นจริง. คำอื่นนอกจากนี้ มีนัยดังกล่าวมาแล้ว.

สติกำหนดสัจจะ ๔ เป็นอริยสัจ

แต่ในสัจจบรรพนี้ ต่างกันอย่างเดียว คือ พึงประกอบความอย่างนี้ว่า

สติกำหนดสัจจะ ๔ เป็นอารมณ์ เป็นทุกขสัจเป็นต้น แล้วพึงทราบว่า เป็น

ทางปฏิบัตินำออกจากทุกข์ของภิกษุผู้กำหนดสัจจะเป็นอารมณ์. คำที่เหลือก็

เหมือนกันแล.

จบสัจจบรรพ