ไปหน้าแรก

มหานามสูตร

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้าที่ 531

. ปฐมมหานามสูตร

ว่าด้วยศากยะมหานามะทูลถามถึงธรรมเป็นเครื่องอยู่

[๒๑๘] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม

ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล ภิกษุเป็นอันมาก กระทำ

จีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวร

สำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหา-

นามะได้ทรงทราบข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มี-

พระภาคเจ้า ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จ

จาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ

เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายอภิวาทพระผู้มี-

พระภาคเจ้าแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ตรัสทูลถาม

พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันทราบข่าวดังนี้ว่า

ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยหวังว่าพระ-

ผู้มีพระภาคเจ้ามีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่าง ๆ จะพึงอยู่

ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละ ๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตร

เสด็จเข้ามาหาตถาคตแล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่

ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่าง ๆ จึงพึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็น

การสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร ดูก่อนมหาบพิตร กุลบุตรผู้มี

ศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธาย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภ

ความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติ

ตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่น

ย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อม

เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูก่อนมหาบพิตร

มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้ว พึงทรงเจริญธรรม ๖

ประการให้ยิ่งขึ้นไป ดูก่อนมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ มหาบพิตร

ถึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา

และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษ เป็นศาสดา

ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม

ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใดอริยสาวกระลึกถึงตถาคต สมัยนั้น จิตของอริย-

สาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริย-

สาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อม

ได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อม

เกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วย

ปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุข

ย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึง

ความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ใน

หมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญพุทธา-

นุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงธรรม

ว่า พระธรรมอัน พระผู้พระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว อันบุคคลพึงเห็นเอง ไม่

ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาในตน อันวิญญูชน

พึงรู้เฉพาะตน ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระธรรม

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรงเพราะ

ปรารภพระธรรม ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความ

ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเถิดแก่อริยสาวกผู้มีความปรา-

โมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกาย

สงบย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร

อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบในหมู่สัตว์ผู้ถึงความ

ไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึง

พร้อมด้วยพระแสธรรมเจริญธัมมานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงระลึกถึง

พระสงฆ์ว่า พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

ผู้ปฏิบัติตรง ปฏิบัติเป็นธรรม ปฏิบัติชอบ นี้คือคู่บุรุษ ๔ บุรุษบุคคล ๘

นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ควรของคำนับ ควรของ

ต้อนรับ ควรของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี เป็นนาบุญของโลก ไม่มี

นาบุญอื่นยิ่งกว่า ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระสงฆ์

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง

ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภพระสงฆ์

ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อัน

ประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของ

อริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อม

เสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวก

นี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ

เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อม

ด้วยกระแสธรรมเจริญสังฆานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึงศีล

ของตนว่า ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไท วิญญูชนสรรเสริญ

อันตัณหาและทิฏฐิลูบคลำไม่ได้ เป็นไปเพื่อสมาธิ ดูก่อนมหาบพิตร

สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศีล สมัยนั้น จิตของอริยสวกนั้น ย่อมไม่ถูก

ราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของ

อริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนิน

ไปตรงเพราะปรารภศีล ย่อมได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ตามรู้ธรรม ย่อม

ได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความ

ปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้

มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหา-

บพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพกล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้

ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ในสัตว์ผู้มีความพยาบาท

เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรมเจริญสีลานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรถึงทรงระลึกถึงจาคะ

ของตนว่า เป็นลาภของเราหนอ ที่เรามีจิตปราศจากมลทิน คือความ

ตระหนี่ มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีแล้วในการสละ ควร

แก่การขอ ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน ในหมู่สัตว์ผู้ถูกมลทิน

คือความตระหนี่กลุ้มรุม ดูก่อนมหาพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงจาคะ

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม

ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อน

มหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภจาคะ ย่อมได้

ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ

ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก

ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข จิต

ของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพ

กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี

ความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ที่มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส

ธรรมเจริญจาคานุสสติ.

ดูก่อนมหาบพิตร อีกประการหนึ่ง มหาบพิตรพึงทรงระลึกถึง

เทวดาทั้งหลายว่า เทวดาชั้นจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาชั้นดาวดึงส์มีอยู่

เทวดาชั้นยามามีอยู่ เทวดาชั้นดุสิตมีอยู่ เทวดาชั้นนิมมานรดีมีอยู่ เทวดา

ชั้นปรนิมมิตวสวัตดีมีอยู่ เทวดาชั้นพรหมกายมีอยู่ เทวดาชั้นที่สูงในรูป

กว่านั้นมีอยู่ เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้

แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศรัทธาเช่นนั้นอยู่ เทวดา

เหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลก

ชั้นนั้นๆ แม้เราก็มีศีลเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด

จุติจากกโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีสุตะเช่นนั้น

เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดใน

เทวโลกชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มีจาคะเช่นนั้น เทวดาเหล่านั้น ประกอบด้วย

ปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วไปบังเกิดในเทวโลกชั้นนั้น ๆ แม้เราก็มี

ปัญญาเช่นนั้น ดูก่อนมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงศรัทธา ศีล

สุตะ จาคะและปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้น สมัยนั้น จิตของ

อริยสาวกนั้นย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ

กลุ้มรุม สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูก่อนมหา-

บพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดาทั้งหลาย ย่อม

ได้ความรู้อรรถ ย่อมได้ความรู้ธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบ

ด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวก

ผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้วย่อมเสวยสุข

จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกนี้อาตมภาพ

กล่าวว่า เป็นผู้ถึงความสงบอยู่ในหมู่สัตว์ผู้ถึงความไม่สงบ เป็นผู้ไม่มี

ความพยาบาทอยู่ในหมู่สัตว์ผู้มีความพยาบาท เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแส

ธรรมเจริญเทวดานุสสติ ดังนี้แล.

จบปฐมมหานามสูตรที่ ๑__

. ทุติยมหานามสูตร

ว่าด้วยกาลกิริยาอันไม่เลวทราม

[๑๕๑๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม กรุง

กบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้น พระเจ้ามหานามศากยราชเสด็จเข้าไปเฝ้า

พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว

ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทรงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์

ผู้เจริญ พระนครกบิลพัสดุ์นี้ เป็นพระนครมั่งคั่ง เจริญรุ่งเรือง มีผู้คนมาก

แออัดไปด้วยมนุษย์ มีถนนคับแคบ หม่อมฉันนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า

หรือนั่งใกล้ภิกษุทั้งหลายผู้เป็นที่เจริญใจแล้ว เมื่อเข้าไปยังพระนครกบิลพัสดุ์

ในเวลาเย็น ย่อมไม่ไปพร้อมกับช้าง ม้า รถ เกวียน และแม้กับบุรุษ

สมัยนั้น หม่อมฉันลืมสติที่ปรารภถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า พระธรรม พระสงฆ์

หม่อมฉันมีความดำริว่า ถ้าในเวลานี้ เรากระทำกาละลงไป คติของเราจะเป็น

อย่างไร อภิสัมปรายภพของเราจะเป็นอย่างไร.

[๑๕๑๑] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร

อย่ากลัวเลย ๆ การสวรรคตอันไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร กาลกิริยาอัน

ไม่เลวทรามจักมีแก่มหาบพิตร ดูก่อนมหาบพิตร อริยสาวกผู้ประกอบด้วย

ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่

นิพพาน ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ประกอบ

ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า ... ในพระธรรม... ใน

พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยเจ้าใคร่แล้ว ไม่ขาด ... เป็นไปเพื่อสมาธิ.

[๑๕๑๒] ดูก่อนมหาบพิตร เปรียบเหมือนต้นไม้ที่น้อมโน้มโอนไป

ทางทิศปราจีน เมื่อรากขาดแล้ว จะพึงล้มไปทางไหน.

ม. ก็พึงล้มไปทางที่ต้นไม้น้อมโน้มโอนไป พระเจ้าข้า.

พ. ฉันใด อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ ก็ย่อม

เป็นผู้น้อมโน้มโอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้นเหมือนกันแล.

จบทุติยมหานามสูตรที่ ๒

. มหานามสูตร

ว่าด้วยสมบัติของอุบาสก

[๑๕๙๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม

ใกล้กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ครั้งนั้นแล พระเจ้ามหานามศากยราช เสด็จ

เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ทรงอภิวาทแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควร

ส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ

ด้วยเหตุเพียงเท่าไร บุคคลจึงจะชื่อว่าอุบาสก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า

ดูก่อนมหาบพิตร บุคคลผู้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ ถึงพระธรรมเป็นสรณะ

ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล บุคคลจึงจะชื่อว่า เป็นอุบาสก

[๑๕๙๑] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสก

จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล

พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต เป็นผู้งด

เว้น จากอทินนาทาน เป็นผู้งดเว้น จากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้งดเว้นจากมุสา

วาท เป็นผู้งดเว้น จากสุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสก

จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศีล.

[๑๕๙๒] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสก

จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.

พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศรัทธา คือ

เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้า

พระองค์นั้น ฯลฯ เป็นผู้จำแนกธรรม ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล อุบาสกจึงจะ

ชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา.

[๑๕๙๓] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสก

จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ.

พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากความ

ตระหนี่ อันเป็นมลทิน มีจาคะอันไม่ติดขัด มีฝ่ามืออันชุ่ม ยินดีในการ

สละ ควรแก่การขอ ยินดีในการจำแนก อยู่ครอบครองเรือน ด้วยเหตุเพียง

เท่านี้ อุบาสกจึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ.

[๑๕๙๔] ม. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ด้วยเหตุเพียงเท่าไร อุบาสก

จึงจะชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.

พ. ดูก่อนมหาบพิตร อุบาสกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีปัญญา คือ

ประกอบด้วยปัญญาเป็นเหตุให้ถึง (เห็น) ความเกิดความดับ เป็นอริยะ

เป็นไปเพื่อชำแรกกิเลส ให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ ด้วยเหตุเพียงเท่านี้แล

อุบาสก จึงชื่อว่า เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา.

จบมหานามสูตรที่ ๗ __