ไปหน้าแรก

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้าที่ 118

๔. นิทานสูตร

ว่าด้วยเหตุเกิดของกรรม

[๔๗๓] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมต้นเหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้น

พร้อมมูลแห่งกรรม ต้นเหตุ ๓ คืออะไร คือ โลภะ ... โทสะ ... โมหะ ...

เป็นต้นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม

กรรมที่บุคคลทำเพราะโลภะ ... โทสะ ... โมหะ เกิดแต่โลภะ ....

โทสะ ... โมหะ ... มีโลภะ ... โทสะ ... โมหะเป็นต้นเหตุ มีโลภะ ... โทสะ ...

โมหะเป็นแดนเกิดอันใด กรรมอันนั้นย่อมให้ผลในที่ ๆ อัตภาพของบุคคล

นั้นเกิด กรรมนั้นให้ผลในอัตภาพใด บุคคลนั้นย่อมได้เสวยผลของกรรมนั้น

ในอัตภาพนั้น เป็นทิฏฐิธรรม (คืออัตภาพปัจจุบัน) บ้าง เป็นอุปปัชชะ

(คืออัตภาพหน้า) บ้าง เป็นอปรปริยาย (คืออัตภาพต่อ ๆ ไป) บ้าง เปรียบ

เหมือนพืชทั้งหลายอันไม่ขาด ไม่เน่า ไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดี

บุคคลปลูกไว้ในแผ่นดินที่ทำไว้ดีแล้ว ในไร่นาที่ดี ฝนเล่าก็หลั่งดี เมื่อเป็น

เช่นนี้ พืชเหล่านั้น ก็พึงถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ฉันใด กรรมที่

บุคคลทำเพราะโลภะ ... โทสะ ... โมหะ ฯลฯ เป็นอปรปริยาย (คืออัตภาพ

ต่อ ๆ ไป) บ้าง ฉันนั้นเหมือนกัน นี้แล ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ เพื่อ

ความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ นี้ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่ง

กรรม ต้นเหตุ ๓ คืออะไร คือ อโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ ... เป็น

ต้นเหตุเพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม.

กรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ ... อโทสะ ... อโมหะ มีอโลภะ ...

อโทสะ ... อโมหะเป็นต้นเหตุ มีอโลภะ ... อโทสะ... อโมหะเป็นแดนเกิด

อันใด เมื่อโลภะ ... โทสะ ... โมหะสิ้นไปแล้ว กรรมนั้นก็เป็นอันเขาละแล้ว

มีมูลขาดแล้ว ถูกทำให้เหมือนตอตาล (คือตาลยอดด้วน) แล้ว ถูกทำให้ไม่มี

ในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา เปรียบเหมือนพืช

ทั้งหลาย อันไม่ขาด ไม่เน่า ไม่เฉา ให้แก่นได้ มีรากฝังอยู่ดี บุรุษเอาไฟ

เผาพืชเหล่านั้นเสียจนเป็นผุยผงแล้ว พึงโปรยเสียในลมแรงหรือสาดเสียใน

กระแสอันเชี่ยวในแม่น้ำ เมื่อเป็นอย่างนี้ พืชเหล่านั้นก็เป็นอันรากขาดแล้ว

ถูกทำให้เหมือนตอตาลแล้ว ถูกทำให้ไม่มีในภายหลังแล้ว มีอันไม่เกิดขึ้นอีก

ต่อไปเป็นธรรมดา ฉันใด กรรมที่บุคคลทำเพราะอโลภะ ... อโทสะ ...

อโมหะ ฯลฯ มีอันไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปเป็นธรรมดา ฉันนั้นเหมือนกัน

นี้แล ภิกษุทั้งหลาย ต้นเหตุ ๓ เพื่อความเกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม

(นิคมคาถา)

คนเขลา (ย่อมทำ) กรรมที่เกิด

เพราะโลภะ โทสะและโมหะ กรรมใด

ที่คนเขลานั้นทำแล้ว น้อยหรือมากก็ตาม

กรรมนั้น ให้ผลในอัตภาพ (ของผู้ทำ)

นี้แหละ วัตถุอื่น (ซึ่งจะเป็นที่รับผลของ

กรรมนั้น) ไม่มี เพราะเหตุนั้น ภิกษุผู้รู้

(ละ) โลภะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว ยัง

วิชชาให้เกิดขึ้น ก็พึงละทุคติทั้งปวงได้.

จบนิทานสูตรที่ ๔

อรรถกถานิทานสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในนิทานสูตรที่ ๔ ดังต่อไปนี้:-

บทว่า นิทานานิ ได้แก่ เหตุทั้งหลาย. บทว่า กมฺมานํ ได้แก่

กรรมที่ให้สัตว์ถึงวัฏฏะ. บทว่า โลโภ นิทานํ กมฺมานํ สมุทยาย ความว่า

ความโลภที่มีความอยากได้ และความละโมบ เป็นสภาพ เป็นต้นเหตุ คือ

เป็นเหตุ อธิบายว่า เป็นปัจจัย เพื่อการเกิดขึ้นแห่งกรรมที่ทำให้ถึงวัฏฏะ

คือทำการประมวลกรรม ที่จะให้ถึงวัฏฏะมา. โทษะที่มีความดุร้าย และความ

ประทุษร้ายเป็นสภาพ ชื่อว่า โทสะ. โมหะที่มีความหลง และความงมงาย

เป็นสภาพ ชื่อว่า โมหะ.

บทว่า โลภปกตํ แปลว่า กรรมที่บุคคลทำแล้ว ด้วยโลภจิต

อธิบายว่า ได้แก่ กรรมที่บุคคลผู้ถูกความโลภครอบงำ เกิดละโมบแล้วทำ.

กรรม ชื่อว่า โลภชํ เพราะเกิดจากความโลภ. กรรม ชื่อว่า โลภนิทานํ

เพราะมีความโลภเป็นต้นเหตุ. กรรม ชื่อว่า โลภสมุทยํ เพราะมีความโลภ

เป็นสมุทัย. ปัจจัย ชื่อว่า สมุทัย อธิบายว่า มีโลภะเป็นปัจจัย. บทว่า

ยตฺถสฺส อตฺตภาโว นิพฺพตฺตติ ความว่า ในที่ใดอัตภาพของบุคคลนั้น

ผู้มีกรรมเกิดแต่ความโลภเกิดขึ้น คือ ขันธ์ท้งั หลายย่อมปรากฏขึ้น.

บทว่า ตตฺถ ตํ กมฺมํ วิปจฺจติ ความว่า กรรมนั้นย่อมเผล็ดผลใน

ขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น. บทว่า ทิฏเฐ วา ธมฺเม เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้า

ตรัสไว้ เพื่อทรงแสดงถึงประเภทกรรมนั้น เพราะกรรมนั้นเป็นทิฏฐธรรม

เวทนียกรรม (ให้ผลในชาตินี้) ก็มี เป็นอุปปัชชเวทนียกรรม (ให้ผลใน

ชาติหน้า) ก็มี หรือเป็น อปรปริยายเวทนียกรรม (ให้ผลในภพต่อ ๆ ไป)

ก็มี แม้ในบททั้งสองที่เหลือ ก็มีนัยนี้เหมือนกัน.

บทว่า อขณฺฑานิ แปลว่า ไม่ถูกทำลาย. บทว่า อปูตีนิ ความว่า

ไม่ถึงความเป็นของไม่ใช่พืชพันธ์ เพราะเสีย. บทว่า อวาตาตปหตานิ

ความว่า ทั้งไม่ถูกลมโกรกและแดดเผา. บทว่า สาราทานิ ความว่า มีสาระ

ที่ถือเอาได้ คือมีสาระ ไม่ใช่ไม่มีสาระ. บทว่า สุขสยิตานิ ความว่า

อยู่อย่างปลอดภัย เพราะเก็บไว้ดี.

บทว่า สุกฺเขตเต ได้แก่ ในนาเตียน. บทว่า สุปริกมฺมกตาย

ภูมิยา ได้แก่ พื้นที่นา ที่บริกรรมแล้วด้วยดี ด้วยการไถด้วยไถ และด้วย

คราด. บทว่า นิกฺขิตฺตานิ ได้แก่ ปลูกไว้แล้ว. บทว่า อนุปฺปเวจฺเฉยฺย

ได้แก่ ตกเนือง ๆ. ในบทว่า วุฑฺฒึ เป็นต้น มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ ชื่อว่า

เจริญ เพราะสูงขึ้นไป. ชื่อว่า งอกงาม เพราะมีรากยึดมั่นอยู่เบื้องล่าง.

ชื่อว่า ไพบูลย์ เพราะขยายออกไปโดยรอบ.

ก็ในสูตรนี้ คำใดที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ มีอาทิว่า ทิฏเฐ วา

ธมฺเม เพื่อไม่ให้ฟั่นเฟือนในคำนั้น ในที่นี้ ควรกล่าวจำแนกกรรม (ออกไป).

อธิบายว่า โดยปริยายแห่งพระสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงจำแนกกรรม

ไว้ ๑๑ อย่าง. คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อุปปัชชเวทนียกรรม ๑

อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ ครุกกรรม ๑ พหุลกรรม ๑ ยทาสันนกรรม ๑

กฏัตตวาปนกรรม ๑ ชนกกรรม ๑ อุปัตถัมภกกรรม ๑ อุปปีฬก

กรรม ๑ อุปฆาตกกรรม ๑.

อธิบายทิฏฐิธรรมเวทนียกรรม

บรรดากรรม ๑๑ อย่างนั้น ในบรรดา (ชวนะ) จิต ๗ ชวนะ

ชวนเจตนาดวงแรก ที่เป็นกุศลหรืออกุศล ในชวนวิถีแรก ชื่อว่า ทิฏฐธรรม

เวทนียกรรม.

ทิฏฐธรรมเวทนียกรรมนั้น ให้วิบากในอัตภาพนี้เท่านั้น ที่เป็นกุศล

อำนวยวิบากในอัตภาพนี้ เหมือนกรรมของกากวฬิยเศรษฐีและปุณณกเศรษฐี

เป็นต้น ส่วน ที่เป็นอกุศล (อำนวยผลในอัตภาพนี้) เหมือนกรรมของ

นันทยักษ์ นันทมาณพ นันทโคฆาต ภิกษุโกกาลิกะ พระเจ้าสุปปพุทธะ

พระเทวทัต และนางจิญจมาณวิกา เป็นต้น. แต่เมื่อไม่สามารถให้ผล

อย่างนั้น จะเป็นอโหสิกรรมไป คือ ถึงความเป็นกรรมที่ไม่มีผล กรรมนั้น

พึงสาธกด้วยข้อเปรียบกับพรานเนื้อ.

อุปมาด้วยนายพรานเสือ

เปรียบเหมือนลูกศรที่นายพรานเนื้อ เห็นเนื้อแล้วโก่งธนูยิงไป ถ้า

ไม่พลาด ก็จะทำให้เนื้อนั้นล้มลงในที่นั้นเอง ลำดับนั้น นายพรานเนื้อก็จะ

ถลกหนังเนื้อนั้นออก เฉือนให้เป็นชิ้นน้อยชิ้นใหญ่ ถือเอาเนื้อไปเลี้ยงลูกเมีย

แต่ถ้าพลาด เนื้อจะหนีไป ไม่หันกลับมาดูทิศนั้นอีก ฉันใด ข้ออุปไมยนี้

ก็พึงทราบฉันนั้น. อธิบายว่า การกลับได้วาระแห่งวิบากของทิฏฐิธรรม

เวทนียกรรม เหมือนกับลูกศรที่ยิงถูกเนื้อโดยไม่พลาด การกลับกลายเป็น

กรรมที่ไม่มีผล เหมือนลูกศรที่ยิงพลาดฉะนั้น ฉะนี้แล.

อธิบายอุปปัชชเวทนียกรรม

ส่วนชวนเจตนาดวงที่ ๗ ที่ยังประโยชน์ให้สำเร็จ ชื่อว่า อุปปัชช

เวทนียกรรม. อุปปัชชเวทนียกรรมนั้น อำนวยผลในอัตภาพต่อไป แต่

ในบรรดากุศลอกุศลทั้งสองฝ่ายนี้ อุปปัชชเวทนียกรรมในฝ่ายที่เป็นกุศล พึง

ทราบด้วยสามารถแห่งสมาบัติ ๘ ในฝ่ายที่เป็นอกุศล พึงทราบด้วยสามารถ

แห่งอนันตริยกรรม ๕. บรรดากรรมทั้งสองฝ่ายนั้น ผู้ที่ได้สมาบัติ ๘ จะเกิด

ในพรหมโลก ด้วยสมาบัติอย่างหนึ่ง. ฝ่ายผู้กระทำอนันตริยกรรม ๕ จะบังเกิด

ในนรกด้วยกรรมอย่างหนึ่ง. สมาบัติที่เหลือ และกรรม (ที่เหลือ) จะถึงความ

เป็นอโหสิกรรมไปหนด คือเป็นกรรมที่ไม่มีวิบาก. แม้ความข้อนี้ พึงทราบ

ตามข้อเปรียบเทียบข้อแรกเทอญ.

อธิบายอปรปริยายเวทนียกรรม

ก็ชวนเจตนา ๕ ดวง ที่เกิดขึ้นในระหว่าง แห่งชวนะ ๒ ดวง (ชวน

เจตนาดวงที่ ๑ และชวนเจตนาดวงที่ ๗) ชื่อว่า อปรปริยายเวทนียกรรม.

อปรปริยายเวทนียกรรมนั้น ได้โอกาสเมื่อใดในอนาคตกาล เมื่อนั้น จะให้ผล

เมื่อความเป็นไปแห่งสังสารวัฏฏะยังมีอยู่ กรรมนั้นจะชื่อว่า เป็นอโหสิกรรม

ย่อมไม่มี. กรรมทั้งหมดนั้นควรแสดงด้วย (เรื่อง) พรานสุนัข. เปรียบเหมือน

สุนัขที่นายพรานเนื้อปล่อยไป เพราะเห็นเนื้อ จึงวิ่งตามเนื้อไป ทันเข้าในที่ใด

ก็จะกัดเอาในที่นั้นแหละ ฉันใด กรรมนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้โอกาสในที่ใด

ก็จะอำนวยผลในที่นั้นทันที. ขึ้นชื่อว่าสัตว์ จะรอดพ้นไปจากกรรมนั้น เป็น

ไม่มี.

อธิบายครุกกรรม

ส่วนในบรรดากรรมหนักและกรรมไม่หนัก ทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล

กรรมใดหนัก กรรมนั้นชื่อว่า ครุกกรรม. ครุกกรรมนี้นั้น ในฝ่ายกุศล

พึงทราบว่าได้แก่ มหัคคตกรรม ในฝ่ายอกุศล พึงทราบว่าได้แก่ อนันตริย-

กรรม ๕. เมื่อครุกรรมนั้นมีอยู่ กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมที่เหลือจะไม่

สามารถให้ผลได้. ครุกรรมแม้ทั้งสองอย่างนั้นแหละ จะให้ปฏิสนธิ. อุปมา

เสมือนหนึ่งว่า ก้อนกรวดหรือก้อนเหล็ก แม้ประมาณเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาด

ที่โยนลงห้วงน้ำ ย่อมไม่สามารถจะลอยขึ้นเหนือน้ำได้ จะจมลงใต้น้ำอย่างเดียว

ฉันใด ในกุศลกรรมก็ดี อกุศลกรรมก็ดี ก็ฉันนั้นเหมือนกัน กรรมฝ่ายใดหนัก

เขาจะถือเอากรรมฝ่ายนั้นแหละไป.

อธิบายพหุลกรรม

ส่วนในกุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดมาก กรรมนั้น

ชื่อว่าพหุลกรรม. พหุลกรรมนั้น พึงทราบด้วยอำนาจอาเสวนะที่ได้แล้ว ตลอด

กาลนาน อีกอย่างหนึ่ง ในฝ่ายกุศลกรรม กรรมใดที่มีกำลังสร้างโสมนัสให้

ในฝ่ายอกุศลกรรม สร้างความเดือดร้อนให้ กรรมนั้นชื่อว่า พหุลกรรม อุปมา

เสมือนหนึ่งว่า เมื่อนักมวยปล้ำ ๒ คนขึ้นเวที คนใดมีกำลังมาก คนนั้นจะ

ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้ม (แพ้) ไป ฉันใด พหุลกรรมนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกัน

จะทับถมกรรมพวกนี้ที่มีกำลังน้อย (ชนะ) ไป. กรรมใดมากโดยการเสพจนคุ้น

หรือมีกำลังโดยอำนาจทำให้เดือนร้อนมาก กรรมนั้นจะให้ผล เหมือนกรรม

ของพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย ฉะนั้น.

เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย

เล่ากัน มาว่า พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัยนั้น รบพ่ายแพ้ในจูฬังคณิยยุทธ์

ทรงควบม้าหนีไป. มหาดเล็กชื่อว่า ติสสอมาตย์ ของพระองค์๑ ตามเสด็จไป

ได้คนเดียวเท่านั้น. ท้าวเธอเสด็จเข้าสู่ดงแห่งหนึ่ง ประทับนั่งแล้ว เมื่อถูก

ความหิวเบียดเบียน จึงรับสั่งว่า พี่ติสสะ เราสองคนหิวเหลือเกิน จะทำ

อย่างไร ? มีอาหารพระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ได้นำพระกระยาหารใส่ขันทอง

๑. ปาฐะว่า ตตฺถ ฉบับพม่าเป็น ตสฺส แปลตามฉบับพม่า.

ใบหนึ่ง ช่อนไว้ในระหว่างผ้าสาฎกมาด้วยพระเจ้าข้า. ถ้าอย่างนั้น จงนำมา.

เขาจึงนำพระกระยาหารออกมาวางตรงพระพักตร์พระราชา. ท้าวเธอทรงเห็น

แล้วตรัสสั่งว่า จงแบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ซิพ่อคุณ. เขาทูลถามว่า พวกเรามี

๓ คน เหตุไฉน พระองค์จึงให้จัดเป็น ๔ ส่วน. พี่ติสสะ เวลาที่เรานึกถึงตัว

เราไม่เคยบริโภคอาหารที่ยังไม่ได้ถวายแก่พระผู้เป็นเจ้าก่อนเลย ถึงวันนี้ เราก็

จักไม่ยอมบริโภค โดยยังไม่ได้ถวายอาหารแก่พระผู้เป็นเจ้า. เขาจึงจัดแบ่ง

อาหารออกเป็น ๔ ส่วน. พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านจงประกาศเวลา. ในป่า

ร้าง เราจักได้พระคุณเจ้าที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า. ข้อนี้ไม่ใช่หน้าที่ของท่าน

ถ้าศรัทธาของเรายังมี เราจักได้พระคุณเจ้าเอง ท่านจงวางใจ แล้วประกาศ

เวลาเถิด. เขาจึงประกาศถึง ๓ ครั้งว่า ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า

ได้เวลาอาหารแล้ว ขอรับพระคุณเจ้า.

ลำดับนั้น พระโพธิยมาลกมหาติสสเถระ ได้ยินเสียงนั้นด้วยทิพยโสต-

ธาตุ รำพึงว่า เสียงนี้ที่ไหน ? จึงรู้ว่า วันนี้พระเจ้าทุฏฐคามณีอภัย แพ้สงคราม

เสด็จเข้าสู่ดงดิบ ประทับนั่งแล้ว ให้แบ่งข้าวขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน ทรง

รำพึงว่า เราจักบริโภคเพียงส่วนเดียว จึงให้ประกาศเวลา (ภัตร) คิดว่า วันนี้

เราควรทำการสงเคราะห์พระราชา แล้วมาโดยมโนคติ ได้ยืนอยู่ตรงพระพักตร์

พระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นแล้ว ทรงมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งว่า

เห็นไหมเล่า พี่ติสสะ ดังนี้ ไหว้พระเถระแล้ว ตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอ

ท่านจงให้บาตร. พระเถระนำบาตรออกแล้ว พระราชาทรงเทอาหารส่วนของ

พระเถระ พร้อมกับส่วนของพระองค์ลงในบาตรแล้วตรัสว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ

ขึ้นชื่อว่า ความลำบากด้วยอาหาร จงอย่ามีในกาลไหนๆ ทรงไหว้แล้วประทับ

ยืนอยู่. ฝ่ายติสสอมาตย์ คิดว่า เมื่อพระลูกเจ้าของเราทอดพระเนตรอยู่ เรา

จักไม่สามารถบริโภคได้ จึงได้เทส่วนของตนลงไปในบาตรพระเถระเหมือนกัน.

ถึงม้าก็คิดว่า ถึงเราก็ควรถวายส่วนของเราแก่พระเถระ. พระราชาทอด-

พระเนตรดูม้า แล้วทรงทราบว่า ถึงม้านี้ ก็ประสงค์จะใส่ส่วนของตนลงใน

บาตรของพระเถระเหมือนกัน จึงได้เทส่วนแม้นั้นลงในบาตรนั้นเหมือนกัน

ไหว้แล้วส่งพระเถระไป พระเถระถือเอาภัตรนั้นไป แล้วได้ถวายแด่ภิกษุสงฆ์

ตั้งแต่ต้น โดยแบ่งปั้นเป็นคำ ๆ.

แม้พระราชาทรงพระดำริว่า พวกเราหิวเหลือเกินแล้ว จะพึงเป็น

การดีมาก ถ้าหากพระเถระจะส่งอาหารที่เหลือมาให้. พระเถระรู้พระราชดำริ

ของพระราชาแล้ว จึงทำภัตรที่เหลือให้พอเพียงแก่คนเหล่านั้น จะดำรงชีวิต

อยู่ได้ จึงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรมาวางอยู่ที่พระหัตถ์ของพระราชาแล้ว.

แม้อาหารก็พอที่คนทั้ง ๓ จะดำรงชีพอยู่ได้. ลำดับนั้น พระราชาทรงล้างบาตร

แล้ว ทรงดำริว่า เราจักไม่ส่งบาตรเปล่าไป จึงทรงเปลื้องพระภูษาชุบน้ำ

แล้ววางผ้าไว้ในบาตร ทรงอธิษฐานว่า ขอบาตรจงประดิษฐานอยู่ในมือ แห่ง

พระผู้เป็นเจ้าของเรา แล้วทรงโยนบาตรไปในอากาศ. บาตรไปประดิษฐานอยู่

ในมือของพระเถระแล้ว.

ในเวลาต่อมา เมื่อพระราชาให้ทรงสร้างมหาเจดีย์ สูง ๑๒๐ ศอก

บรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนที่ ๘ แห่งพระตถาคตเจ้าไว้ เมื่อพระเจดีย์

ยังไม่ทันเสร็จ ก็ได้เวลาใกล้สวรรคต. ลำดับนั้น เมื่อพระภิกษุสงฆ์สาธยาย

โดยนิกายทั้ง ๕ ถวายพระองค์ผู้บรรทมอยู่ข้างด้านทิศใต้แห่งมหาเจดีย์ รถ

๖ คัน จากเทวโลก ๖ ชั้น จอดเรียงรายอยู่ในอากาศ เบื้องพระพักตร์ของ

พระราชา พระราชาทรงรับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงนำสมุดบันทึกการทำบุญมา

แล้วรับสั่งให้อ่านสมุดนั้นมาแต่ต้น. ครั้นไม่มีกรรมอะไรที่จะให้พระองค์

ประทับพระทัย จึงตรัสสั่งว่า จงอ่านต่อไปอีก. คนอ่าน อ่านต่อไปว่า ข้าแต่

สมมติเทพ๑ พระองค์ผู้ปราชัยในจุลลังคณิยยุทธสงความ เสด็จเข้าดงประทับ

นั่ง ถวายภิกษาแก่ท่านพระโพธิมาลกมหาติสสเถระ โดยทรงแบ่งพระ-

กระยาหารขันเดียวออกเป็น ๔ ส่วน. พระราชารับสั่งให้หยุดอ่าน แล้วซักถาม

ภิกษุสงฆ์ว่า พระคุณเจ้าข้า เทวโลกชั้นไหนเป็นรมณียสถาน. ภิกษุสงฆ์

ถวายพระพรว่า ขอถวายพระพร มหาบพิตร ดุสิตพิภพเป็นที่ประทับของ

พระโพธิสัตว์ทุกพระองค์. พระราชาสวรรคตแล้ว ประทับนั่งบนราชรถที่มา

แล้วจากดุสิตพิภพนั่นแหละ ได้เสด็จถึงดุสิตพิภพแล้ว. นี้เป็นเรื่อง (แสดง

ให้เห็น) ในการให้วิบากของกรรมที่มีกำลัง.

อธิบายยทาสันนกรรม

ส่วนในบรรดากุศลกรรมและอกุศลกรรมทั้งหลาย กรรมใดสามารถ

เพื่อจะให้ระลึกถึงในเวลาใกล้ตาย กรรมนั้น ชื่อว่า ยทาสันนกรรม.๒

ยทาสันนกรรมนั่นแหละ เมื่อกุศลกรรมและอกุศลกรรมเหล่าอื่น ถึงจะ

มีอยู่ก็ให้ผล (ก่อน) เพราะอยู่ใกล้มรณกาล เหมือนเมื่อเปิดประตูคอก ที่มี

ฝูงโคเต็มคอก บรรดาโคฝึกและโคมีกำลัง ถึงจะอยู่ในส่วนอื่น (ไกลปากคอก)

โคตัวใดอยู่ใกล้ประตูคอก โดยที่สุดจะเป็นโคแก่ถอยกำลังก็ตาม โคตัวนั้น

ก็ย่อมออกได้ก่อนอยู่นั่นเอง ฉะนั้น. ในข้อนั้น มีเรื่องดังต่อไปนี้เป็นตัวอย่าง

เรื่องคนเฝ้าประตูชาวทมิฬ

เล่ากันมาว่า ในบ้านมธุอังคณะ. มีนายประตูชาวทมิฬคนหนึ่งถือเอา

เบ็ดไปแต่เช้า ตกปลาได้แล้วแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเอาแลกข้าวสาร

๑. ปาฐะว่า ตเทว ฉบับพม่าเป็น เต เทว แปลตามฉบับพม่า

๒. คำว่า ยทาสันนกรรม ก็คือ อาสันนกรรม

ส่วนหนึ่งแลกนม ส่วนหนึ่งต้มแกงกิน. โดยทำนองนี้ เขาทำปาณาติบาตอยู่ถึง

๕๐ ปี ต่อมาแก่ตัวลง ล้มหมอนนอนเสื่อ ในขณะนั้น พระจุลลปิณฑปา-

ติกติสสเถระ ชาวคิรีวิหาร รำพึงว่า คนผู้นี้ เมื่อเรายังเห็นอยู่อย่าพินาศ

เสียเลย แล้วไปยืนอยู่ที่ประตูเรือนของเขา. ขณะนั้นภริยาของเขาจึงบอกว่า

นี่ ! พระเถระมาโปรดแล้ว เขาตอบว่า ตลอดเวลา ๕๐ ปี เราไม่เคยไป

สำนักของพระเถระเลย ด้วยคุณความดีอะไรของเรา ท่านจึงต้องมา เธอจง

ไปนิมนต์ให้ท่านไปเสียเถิด. นางบอกพระเถระว่า นิมนต์ไปโปรดสัตว์

ข้างหน้าเถิดเจ้าข้า พระเถระถามว่า อุบาสกมีพฤติการทางร่างกายอย่างไร.

นางตอบว่า อ่อนแรงแล้ว เจ้าข้า. พระเถระเข้าไปยังเรือนให้สติ แล้วกล่าวว่า

โยมรับศีล (ไหม). เขาตอบว่า รับ ขอรับพระคุณเจ้า นิมนต์ให้ศีลเถิด.

พระเถระให้สรณะ ๓ แล้ว เริ่มจะให้ศีล ๕. ในขณะที่อุบาสกนั้น ว่า ปญฺจ

สีลานิ นั่นแหละ ลิ้นแข็งเสียแล้ว. พระเถระคิดว่า เท่านี้ก็พอควร แล้ว

ออกไป. ส่วนเขาตายแล้วไปเกิดในภพจาตุมหาราชิกะ. ก็ในขณะที่เขาเกิด

นั่นแหละ รำลึกว่า เราทำกรรมอะไรหนอ จึงได้สมบัตินี้ รู้ว่าได้เพราะอาศัย

พระเถระ จึงมาจากเทวโลก ไหว้พระเถระแล้ว ยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

เมื่อพระเถระถามว่า นั่นใคร ตอบว่า กระผม (คือ) คนเฝ้าประตูชาวทมิฬครับ

พระคุณเจ้า. พระเถระถามว่า ท่านไปเกิดที่ไหน ตอบว่า ผมเกิดที่ชั้น

จาตุมหาราชิกภพ ครับพระคุณเจ้า ถ้าหากพระคุณเจ้าได้ให้ศีล ๕ แล้วไซร้

ผมคงได้เกิดในชั้นสูงขึ้นไป ผมจักทำอย่างไร พระเถระตอบว่า ดูก่อน (เทพ)

บุตร ท่านไม่สามารถจะรับเอาได้เอง เทพบุตรไหว้พระเถระแล้ว กลับไปยัง

เทวโลก. นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในกุศลกรรมก่อน.

เรื่องมหาวาตกาลอุบาสก

ก็ในระหว่างแม่น้ำคงคา ได้มีอุบาสกชื่อว่า มหาวาตกาละ. เขาสาธยาย

อาการ ๓๒ เพื่อมุ่งโสดาปัตติมรรคถึง ๓๐ ปี ถึงทิฏฐิวิปลาสว่า เราสาธยาย

อาการ ๓๒ อยู่อย่างนี้ ก็ไม่อาจให้เกิดแม้เพียงโอภาสได้ ชะรอยพระพุทธศาสนา

จักไม่เป็นศาสนาเครื่องนำสัตว์ออกจากภพ (เป็นแน่) กระทำกาลกิริยาแล้ว

ได้ไปเกิดเป็นลูกจรเข้ยาว ๙ อุสภะ ที่แม่น้ำมหาคงคา. คราวหนึ่ง เกวียนบรรทุก

เสาหิน ๖๐ เล่ม เดินทางไปตามท่ากัจฉปะ. จรเข้นั้นฮุบกินทั้งโคทั้งหินเหล่านั้น

จนหมดสิ้น. นี้เป็นเรื่อง (ตัวอย่าง) ในอกุศลกรรม.

อธิบายกฏัตตาวาปนกรรม

ส่วนกรรมนอกเหนือจากกรรม ๓ ดังกล่าวมาแล้วนี้ ทำไปโดยไม่รู้

ชื่อว่า กฏัตตาวาปนกรรม. กฏัตตาวาปนกรรมนั้น อำนวยวิบากได้ใน

กาลบางครั้ง เพราะไม่มีกรรม ๓ อย่างเหล่านั้น เหมือนท่อนไม้๑ ที่คนบ้า

ขว้างไป จะตกไปในที่ ๆ ไม่มีจุดหมายฉะนั้น.

อธิบายชนกกรรม

กรรมที่ให้เกิดปฏิสนธิอย่างเดียว ไม่ให้เกิดปวัตติกาล๒ กรรมอื่น

ย่อมให้เกิดวิบากในปวัตติกาล ชื่อว่า ชนกกรรม. อุปมาเสมือนหนึ่งว่า

มารดาให้กำเนิดอย่างเดียว ส่วนพี่เลี้ยง นางนม ประคบประหงมฉันใด ชนก

กรรมก็เช่นนั้นเหมือนกัน ให้เกิดปฏิสนธิเหมือนมารดา (ส่วน) กรรมที่มา

ประจวบเข้าในปวัตติกาล๓ เหมือนพี่เลี้ยงนางนม.

๑. ปาฐะว่า ขิตฺตํ กณฺฑํ ฉบับพม่าเป็น ขิตตทณฺฑํ แปลตามฉบับพม่า.

๒. ปาฐะว่า ปวตฺตํ ชเนติ ฉบับพม่าเป็น ปวตฺตึ น ชเนติ แปลตามฉบับพม่า.

๓. ปาฐะว่า ปวตฺเต ปวตฺติกํ ฉบับพม่าเป็น ปวตเต สปฺปตฺกมฺมํ แปลตามฉบับพม่า.

อธิบายอุปัตถัมภกกรรม

ธรรมดาอุปัตถัมภกกรรม มีได้ทั้งในกุศล ทั้งในอกุศล เพราะว่า

ลางคนกระทำกุศลกรรมแล้วเกิดในสุคติภพ เขาดำรงอยู่ในสุคติภพนั้นแล้ว

บำเพ็ญกุศลบ่อย ๆ สนับสนุนกรรมนั้น ย่อมท่องเที่ยวไปในสุคติภพนั่นแหละ

ตลอดเวลาหลายพันปี. ลางคนกระทำอกุศลกรรมแล้วเกิดในทุคติภพ เขา

ดำรงอยู่ในทุคตินั้น กระทำอกุศลกรรมบ่อย ๆ สนับสนุนกรรมน้นั แล้ว จะ

ท่องเที่ยวไปในทุคติภพนั้นแหละ สิ้นเวลาหลายพันปี.

อีกนัยหนึ่งควรทราบดังนี้ ทั้งกุศลกรรม ทั้งอกุศลกรรม ชื่อว่าเป็น

ชนกกรรม. ชนกกรรมนั้นให้เกิดวิบากขันธ์ทั้งที่เป็นรูปและอรูป ทั้งใน

ปฏิสนธิกาล ทั้งในปวัตติกาล. ส่วนอุปัตถัมภกกรรม ไม่สามารถให้เกิดวิบาก

ได้ แต่จะสนับสนุนสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบาก ที่ให้เกิดปฏิสนธิท่กี รรม

อื่นให้ผลแล้ว ย่อมเป็นไปตลอดกาลนาน.

อธิบายอุปปีฬกกรรม

กรรมที่เบียดเบียน บีบคั้นสุขทุกข์ที่เกิดขึ้นในเพราะวิบากที่ให้เกิด

ปฏิสนธิ ที่กรรมอื่นให้ผลแล้ว จะไม่ให้ (สุขหรือทุกข์นั้น ) เป็นไปตลอด

กาลนาน ชื่อว่า อุปปีฬกกรรม.

ในอุปปีฬกกรรมนั้น มีนัยดังต่อไปนี้. เมื่อกุศลกรรมกำลังให้ผล

อกุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส) กุศลกรรมนั้นให้ผล. แม้เมื่อ

อกุศลกรรมนั้นกำลังให้ผลอยู่ กุศลกรรมจะเป็นอุปปีฬกกรรมไม่ให้ (โอกาส)

อกุศลกรรมนั้นให้ผล. ต้นไม้ กอไม้ หรือเถาวัลย์ ที่กำลังเจริญงอกงาม

ใครคนใดคนหนึ่งเอาไม้มาทุบ หรือเอาศาสตรามาตัด เมื่อเป็นเช่นนั้น

๑. ปาฐะว่า อถโข ฉบับพม่าเป็น อถ โส แปลตามฉบับพม่า.

ต้นไม้กอไม้หรือเถาวัลย์นั้นจะต้องไม่เจริญงอกงามขึ้นฉันใด กุศลกรรมก็

ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อกำลังให้ผล (แต่ถูก) อกุศลกรรมเบียดเบียน หรือว่า

อกุศลกรรมกำลังให้ผล (แต่ถูก) กุศลกรรมบีบคั้นจะไม่สามารถให้ผลได้

ในสองอย่างนั้น สำหรับนายสุนักขัตตะ อกุศลกรรม (ชื่อว่า) เบียดเบียน

กุศลกรรม สำหรับนายโจรฆาตกะ กุศลกรรม (ชื่อว่า) เบียดเบียนอกุศลกรรม.

เรื่องเพชฌฆาต ชื่อตาวกาฬกะ

เล่ากันว่า ในกรุงราชคฤห์ นายตาวกาฬกะ กระทำโจรฆาตกรรม

(ประหารชีวิตโจร) มาเป็นเวลา ๕๐ ปี. ลำดับนั้น ราชบุรุษทั้งหลายได้

กราบทูลเขาต่อพระราชาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ นายตาวกาฬกะแก่แล้ว

ไม่สามารถจะประหารชีวิตโจรได้ พระราชารับสั่งว่า ท่านทั้งหลายจงปลดเขา

ออกจากตำแหน่งนั้น. อำมาตย์ทั้งหลายปลดเขาออกแล้ว แต่งตั้งคนอื่นแทน.

ฝ่ายนายตาวกาฬกะ ตลอดเวลาที่ทำงานนั้น (เป็นเพชฌฆาต) ไม่เคยนุ่ง

ผ้าใหม่ ไม่ได้ทัดทรงของหอมและดอกไม้ ไม่ได้บริโภคข้าวปายาส ไม่ได้

รับการอบอาบ. เขาคิดว่า เราอยู่โดยเพศของผู้เศร้าหมองมานานแล้ว จึงสั่ง

ภรรยาให้หุงข้าวปายาส ให้นำเครื่องสัมภาระสำหรับอาบไปยังท่าน้ำ ดำเกล้า

และนุ่งผ้าใหม่ ลูบไล้ของหอม ทัดดอกไม้ กำลังเดินมาบ้าน เห็นพระสารี-

บุตรเถระ ดีใจว่า เราจะได้พ้นจากกรรมที่เศร้าหมอง และได้พบพระผู้เป็นเจ้า

ของเราด้วย จึงนำพระเถระไปยังเรือน แล้วอังคาสด้วยข้าวปายาสที่ปรุงด้วย

เนยใส เนยข้น และผงน้ำตาลกรวด. พระเถระได้อนุโมทนาทานของเขา.

เขาได้ฟังอนุโมทนาแล้ว กลับได้อนุโลมิกขันติ ตามส่งพระเถระแล้วเดินกลับ

ในระหว่างทางถูกโคแม่ลูกอ่อนขวิด ให้ถึงความสิ้นชีวิต แล้วไปเกิดในดาว-

ดึงสพิภพ. ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระตถาคตว่า พระพุทธเจ้าข้า วันนี้

เอง นายโจรฆาตอันพระสารีบุตรเถระช่วยนำออกจากกรรมที่เศร้าหมอง ถึงแก่

กรรมแล้วในวันนี้เหมือนกัน เขาเกิดในที่ไหนหนอ.

พ. ในดาวดึงสพิภพ ภิกษุทั้งหลาย.

ภิ. พระพุทธเจ้าข้า นายโจรฆาตฆ่าคนมาเป็นเวลานานและพระองค์

ก็ตรัสสอนไว้อย่างนี้ บาปกรรมไม่มีผลหรืออย่างไรหนอ.

พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวเช่นนั้น นายโจรฆาตได้

กัลยาณมิตรผู้มีกำลังเป็นอุปนิสสยปัจจัย ถวายบิณฑบาตแก่พระธรรมเสนาบดี

ฟังอนุโมทนากถาแล้ว กลับได้อนุโลมิกขันติ จึงได้บังเกิดในที่นั้น.

นายโจรฆาต ได้ฟังคำเป็นสุภาษิต

ในเมืองแล้ว ได้อนุโลมขันติบันเทิงใจ

ไปเกิดในไตรเทพ.

อธิบายอุปฆาตกกรรม

ส่วนอุปฆาตกกรรม ที่เป็นกุศลบ้าง ที่เป็นอกุศลบ้าง มีอยู่เอง จะ

ตัดรอนกรรมอื่น ที่มีกำลังเพลากว่า ห้ามวิบากของกรรมนั้นไว้แล้วทำโอกาส

แก่วิบากของตน. ก็เมื่อกรรมทำ (ให้) โอกาสอย่างนี้แล้ว กรรมนั้นเรียกว่า

เผล็ดผลแล้ว. อุปฆาตกกรรมนี้นั่นแหละ มีซึ่งว่าอุปัจเฉทกกรรมบ้าง.

อธิบายอุปัจเฉทกกรรม

ในอุปัจเฉทกกรรมนั้น มีนัยดังต่อไปนี้ ในเวลาที่กุศลกรรมให้ผล

อกุศลกรรมอย่างหนึ่งจะตั้งขึ้นตัดรอนกรรมนั้นให้ตกไป ถึงในเวลาที่อกุศล-

กรรมให้ผล กุศลกรรมอย่างหนึ่งก็จะตั้งขึ้น ตัดรอนกรรมนั้นแล้วให้ตกไป.

นี้ชื่อว่า อุปัจเฉทกกรรม. บรรดาอุปัจเฉทกกรรมที่เป็นกุศล และอกุศล

ทั้งสองอย่างนั้น กรรมของพระเจ้าอชาตศัตรู ได้เป็นกรรมที่ตัดรอนกุศล

ส่วนกรรมของพระองคุลิมาลเถระได้เป็นกรรมตัดรอนอกุศล. ด้วยประการ

ดังกล่าวมานี้ เป็นอันท่านจำแนกกรรม ๑๑ อย่าง ตามสุตตันติกปริยาย.

กรรม ๑๖ อย่างตามแนวพระอภิธรรม

ส่วนพระอภิธรรมปริยาย ท่านจำแนกกรรมไว้ ๑๖ อย่าง. คือ

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามคติสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามอุปสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามกาลสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง ห้ามปโยคสมบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยคติวิบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยอุปธิวิบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยกาลวิบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานชั่ว ลางอย่าง อาศัยปโยควิบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามคติวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามอุปธิวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามกาลวิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง ห้ามปโยควิบัติ ยังไม่ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยคติสมบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยอุปธิสมบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยกาลสมบัติ ให้ผล ๑

กรรมสมาทานดี ลางอย่าง อาศัยปโยคสมบัติ ให้ผล ๑.

อธิบายกรรม ๑๖ อย่างตามแนวพระอภิธรรม

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปาปกานิ แปลว่า ลามก. บทว่า

กมฺมสมาทานานิ ได้แก่การยึดถือกรรม. คำว่า กมฺมสมาทานานิ นี้

เป็นชื่อของกรรมทั้งหลาย ที่บุคคลสมาทานถือเอาแล้ว. พึงทราบวินิจฉัย

ในบทว่า คติสมฺปตฺตึ ปฏิพาฬฺหานิ น วิปจฺจนฺติ เป็นต้น ดังต่อไปนี้

เมื่อกรรมที่มีการเสวยอนิฏฐารมณ์เป็นกิจ ยังมีอยู่นั่นแหละ กรรมนั้น

ของสัตว์ผู้เกิดในสุคติภพ ชื่อว่าห้ามคติสมบัติไว้ ยังไม่ให้ผล. อธิบายว่า

เป็นกรรมถูกคติสมบัติห้ามไว้ ยิ่งไม่ให้ผล.

ก็ผู้ใด เกิดในท้องของหญิงทาสี หรือหญิงกรรมกร เพราะบาปกรรม

(แต่) เป็นผู้มีอุปธิสมบัติ ตั้งอยู่ในความสำเร็จ คือความงดงามแห่งอัตภาพ.

ครั้นนายของเขาเห็นรูปสมบัติของเขาแล้ว เกิดความคิดว่า ผู้นี้ไม่สมควร

ทำงานที่ต่ำต้อย แต่งตั้งเขาไว้ในตำแหน่งภัณฑาคาริกเป็นต้น มอบสมบัติให้

แล้วเลี้ยงดูอย่างลูกของตน. กรรมของคนเห็นปานนี้ ชื่อว่าห้ามอุปธิสมบัติ

ให้ผลก็หามิได้.

ส่วนผู้ใด เกิดในเวลาที่มีโภชนาหารหาได้ง่ายและมีรสอร่อยเช่นกับ

กาลของคนในปฐมกัป บาปกรรมของเขาถึงมีอยู่ จะชื่อว่า ห้ามกาลสมบัติ

ให้ผลก็หามิได้.

ส่วนผู้ใดอาศัยการประกอบโดยชอบ เลี้ยงชีพอยู่ แต่เข้าหาใน

เวลาที่ควรจะต้องเข้าหา ถอยกลับในเวลาที่ควรจะต้องถอยกลับ หนีในเวลา

ที่ควรจะต้องหนี ให้สินบนในเวลาที่ควรให้สินบน ทำโจรกรรมในเวลาที่ควร

ทำโจรกรรม บาปกรรมของคนเช่นนี้ ชื่อว่า ห้ามปโยคสมบัติ ให้ผลก็หา

มิได้.

ส่วนบาปกรรมของบุคคลผู้เกิดในทุคติภพ ชื่อว่า อาศัยคติวิบัติให้

ผลอยู่.

ส่วนผู้ใดเกิดในท้องของหญิงทาสี หรือหญิงกรรมกร มีผิวพรรณ

ไม่งดงาม รูปร่างไม่สวย ชวนให้เกิดสงสัยว่า เป็นยักษ์หรือเป็นมนุษย์ ถ้า

เขาเป็นชาย คนทั้งหลายจะคิดว่า คนผู้นี้ไม่สมควรแก่งานอย่างอื่น แล้วจะ

ให้เขาเลี้ยงช้าง เลี้ยงม้า เลี้ยงโค หรือให้หาหญ้าหาฟืน ให้เทกระโถน

ถ้าเป็นหญิง คนทั้งหลายจะใช้ให้ต้มข้าวต้มถั่ว๑ ให้ช้างให้ม้าเป็นต้น ให้เท

หยากเยื่อ หรือใช้ให้ทำงานที่น่ารังเกียจอย่างอื่น. บาปกรรมของผู้เห็นปานนี้

ชื่อว่า อาศัยอุปธิวิบัติให้ผล.

ส่วนผู้ใดเกิดในเวลาข้าวยากหมากแพง ในเวลาตระกูลเสื่อมสิ้นสมบัติ

หรือในอันตรกัป บาปกรรมของผู้นั้น ชื่อว่าอาศัยกาลวิบัติให้ผล.

ส่วนผู้ใดไม่รู้จักประกอบความเพียร ไม่รู้เพื่อจะเข้าไปหาในเวลา

ที่ควรเข้าไปหา ฯลฯ ไม่รู้เพื่อจะทำโจรกรรม ในเวลาที่ควรทำโจรกรรม

บาปกรรมของผู้นั้น ชื่อว่า อาศัยปโยควิบัติให้ผล.

ส่วนผู้ใด เมื่อกรรมที่สมควรแก่การเสวยอิฏฐารมณ์เป็นกิจ ยังมีอยู่

นั่นแลไปเกิดในทุคติภพ กรรมของเขานั้น ชื่อว่า ห้ามคติวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.

ส่วนผู้ใดเกิดในพระราชวัง หรือในเรือนของราชมหาอำมาตย์เป็นต้น

ด้วยอานุภาพแห่งบุญกรรมเป็นคนบอด เป็นคนง่อย เป็นคนกระจอก หรือว่า

เป็นคนเปลี้ย คนทั้งหลายไม่ยอมให้ตำแหน่งแก่เขา เพราะเห็นว่า เขาไม่

เหมาะสมแก่ตำแหน่งอุปราชเสนาบดี และขุนคลังเป็นต้น บุญของเขาตามที่

กล่าวมานี้ ชื่อว่า ห้ามอุปธิวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.

๑. ปาฐะว่า ภตฺตมํสาทีนิ ฉบับพม่าเป็น ภตฺตมาสาทีนิ แปลตามฉบับพม่า.

ส่วนผู้ใดเกิดในหมู่มนุษย์ ในเวลาข้าวยากหมากแพง ในเวลาที่

(ตระกูล) เสื่อมสิ้นสมบัติแล้ว หรือในอันตรกัป กรรมดีของเขานั้น ชื่อว่า

ห้ามกาลวิบัติ ให้ผลก็หามิได้.

ส่วนผู้ใด ไม่รู้เพื่อจะยังความเพียรให้เกิดขึ้น ตามนัยที่ได้กล่าวแล้ว

ในหนหลังนั่นแหละ กรรมดีของเขานั้นชื่อว่า ห้ามปโยควิบัติ ให้ผลก็หามิได้.

แต่กรรมของผู้เกิดในสุคติภพ ด้วยกัลยาณกรรมนั้น ชื่อว่า อาศัย

คติสมบัติให้ผล. คนทั้งหลายเห็นอัตภาพของผู้ที่เกิดในราชตระกูล หรือ

ตระกูลของราชมหาอำมาตย์เป็นต้น ถึงอุปธิสมบัติ คือดำรงอยู่ในความ

เพรียบพรอ้มแห่งอัตภาพ เช่นเดียวกับ รัตนโดรณ (เสาระเนียดแก้ว) ที่

เขาตั้งไว้ที่เทพนคร เห็นว่า คนผู้นี้เหมาะสมกับตำแหน่งอุปราช เสนาบดี

หรือตำแหน่งขุนคลังเป็นต้น ถึงเขาจะยังหนุ่ม ก็ยอมให้ตำแหน่งเหล่านั้น.

กัลยาณธรรมของคนเห็นปานนี้ ชื่อว่า อาศัยอุปธิสมบัติให้ผล.

ผู้ใดเกิดในปฐมกัปก็ดี ในเวลาที่ข้าวน้ำหาได้ง่ายก็ดี กัลยาณกรรม

ของเขา ชื่อว่า อาศัยกาลสมบัติให้ผล.

ผู้ใดไม่รู้ เพื่อการประกอบความเพียร โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นและ

กรรมของผู้นั้นชื่อว่า อาศัยปโยคสมบัติให้ผล.

ท่านจำแนกกรรม ๑๖ อย่าง ตามปริยายแห่งพระอภิธรรม ด้วย

ประการดังพรรณนามาฉะนี้.

กรรม ๑๒ อย่าง ตามแนวแห่งปฏิสัมภิทามรรค

โดยปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านจำแนกกรรม ๑๒ อย่างไว้

อีกอย่างหนึ่ง คือ

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ได้มีมาแล้ว ๑

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่ได้มีมาแล้ว ๑

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ยังมีอยู่ ๑

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่มีอยู่ ๑

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักมีมา ๑

กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักไม่มีมา ๑

กรรมมีอยู่ กรรมวิบากมีอยู่ ๑

กรรมมีอยู่ แต่กรรมวิบากไม่มี ๑

กรรมมีอยู่ กรรมวิบากจักมีมา ๑

กรรมมีอยู่ แต่กรรมวิบากจักไม่มีมา ๑

กรรมก็จักมี กรรมวิบากก็จักมี ๑

กรรมจักมีมา แต่วิบากกรรมจักไม่มี ๑

อธิบายกรรม ๑๒ อย่าง ตามแนวแห่งปฏิสัมภิทามรรค

บรรดากรรม ๑๒ อย่างนั้น กรรมที่บ่ระมวลมาในอดีต ได้วาระ

แห่งผลในอดีตนั่นเอง ที่จะให้เกิดปฏิสนธิก็ให้เกิดปฏิสนธิแล้ว ส่วนที่จะให้

เกิดรูป ก็สามารถให้เกิดรูปขึ้น ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม

ได้มีมาแล้ว.

ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้ปฏิสนธิ ก็ไม่สามารถจะ

ให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ไม่สามารถจะให้เกิดรูปได้ ท่าน

กล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่ได้มีมาแล้ว.

ส่วนกรรมที่ประมวลมาแล้วในอดีต ได้วาระแห่งผลในปัจจุบันแล้ว

ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็ให้เกิดปฏิสนธิแล้ว หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ให้เกิดรูปแล้ว

ตั้งอยู่ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ยังมีอยู่.

ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็ไม่สามารถ

จะให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็ไม่สามารถให้เกิดรูปได้ ท่าน

กล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม ไม่มีอยู่.

ส่วนกรรมที่ประมวลมาในอดีตกาล จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคต

ที่ให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักสามารถให้ปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักสามารถ

ให้เกิดรูป ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักมีมา.

ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบากในอนาคต ที่ให้เกิดปฏิสนธิ

ก็จักไม่สามารถให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักไม่สามารถให้เกิด

รูปได้ ท่านกล่าวว่า กรรมวิบากที่เป็นอโหสิกรรม จักไม่มีมา.

ส่วนกรรมที่ประมวลมาในปัจจุบัน และจะได้วาระแห่งวิบากใน

ปัจจุบันเหมือนกัน ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็มีอยู่.

ส่วนกรรมที่ไม่ได้วาระแห่งวิบากในปัจจุบัน ท่านกล่าวว่า กรรมมี

แต่กรรมวิบากไม่มี.

ส่วนกรรมที่ประมวลมาในปัจจุบัน แต่จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคต

ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักสามารถให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักให้

เกิดรูป (ในอนาคต ) ได้ ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ กรรมวิบากก็จักมีมา.

ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักไม่

สามารถให้เกิดปฏิสนธิได้ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักไม่สามารถให้เกิดรูป

(ในอนาคต) ได้ ท่านกล่าวว่า กรรมมีอยู่ แต่ผลกรรมจักไม่มีมา.

ส่วนกรรมที่จักประมวลมาในอนาคต จักได้วาระแห่งวิบากในอนาคต

เหมือนกัน ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูป

ก็จักให้เกิดรูป ท่านกล่าวว่า กรรมก็จักมี กรรมวิบากก็จักมี.

ส่วนกรรมที่จักไม่ได้วาระแห่งวิบาก ที่จะให้เกิดปฏิสนธิ ก็จักไม่

สามารถให้เกิดปฏิสนธิ หรือที่จะให้เกิดรูป ก็จักไม่สามารถให้เกิดรูปได้ ท่าน

กล่าวว่า กรรมจักมีมา แต่กรรมวิบากจักไม่มี.

ตามปริยายแห่งปฏิสัมภิทามรรค ท่านจำแนกกรรมไว้ ๑๒ อย่าง

ด้วยประการดังพรรณนามาฉะนี้.

กรรม ๑๒ อย่างเหล่านี้ก็ดี กรรม ๑๖ อย่างข้างต้นก็ดี ที่จำแนก

ไว้แล้ว ย่อจากฐานะของตนลงมา กล่าวโดยปริยายแห่งสุตตันตะ จะมี ๑๑

อย่างเท่านั้น. ถึงกรรมเหล่านั้น ย่อจากกรรม ๑๑ อย่างนั้นแล้ว จะเหลือเพียง

๓ อย่างเท่านั้น คือ ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ๑ อุปปัชเวทนียกรรม ๑

อปรปริยายเวทนียกรรม ๑ กรรมเหล่านี้ไม่มีการก้าวก่ายกัน ย่อมตั้งอยู่

ในฐานะของตนอย่างเดียว.

เพราะว่า ถ้าหากทิฏิธรรมเวทนียกรรม กลายเป็นอุปปัชช-

เวทนียกรรม หรืออปรปริยายเวทนียกรรมไปไชร้ พระศาสดาคงไม่ตรัสว่า

ทิฏฺเฐว ธมฺเม (ในปัจจุบันนี้เท่านั้น). แม้ถ้าว่า อุปปัชชเวทนียกรรม

จักกลายเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม หรืออปรปริยายเวทนียกรรมไปไซร้

พระศาสดาคงไม่ตรัสว่า อุปปชฺเช วา (ในภพที่จะเกิดขึ้น). อนึ่ง หาก

อปรปริยายเวทนียกรรม จะกลายเป็นทิฏิธรรมเวทนียกรรม หรือ

อุปปัชชเวทนียกรรมไป พระศาสดาก็คงไม่ตรัสว่า อปเร วา ปริยาเย

(หรือในปริยายภพต่อไป). แม้ในสุกปักษ์ (กุศลกรรม) พึงทราบความโดยนัย

นี้เหมือนกัน.

และพึงทราบวินิจฉัยในธรรมที่เป็นสุกปักษ์ ดังต่อไปนี้ บทว่า โลเภ

วิคเต ความว่า เมื่อความโลภปราศไปแล้ว คือ ดับแล้ว. บทว่า ตาลวตฺถุกตํ

ความว่า ทำให้เป็นเหมือนต้นตาล. อธิบายว่า ทำให้ไม่งอกขึ้นมาอีก เหมือน

ต้นตาลที่ถูกตัดยอดแล้ว. บทว่า อนภาวํ กตํ ความว่า กระทำไม่ให้มีใน

ภายหลัง อธิบายว่า กระทำโดยไม่ให้เกิดขึ้นอีก. บทว่า เอวสฺสุ ความว่า

พึงเป็นอย่างนั้น.

พึงทราบข้อเปรียบเทียบ ในบทว่า เอวเมว โข ดังต่อไปนี้

กุศลกรรม และอกุศลกรรม พึงเห็นเหมือนพืช พระโยคาวจร พึงเห็นเหมือน

บุรุษเอาไฟเผาพืชเหล่านั้น. มัคคญาณ พึงเห็นเหมือนไฟ. เวลาที่กิเลสถูก

มัคคญาณเผาไหม้ พึงเห็นเหมือนเวลาที่จุดไฟเผาพืช. เวลาที่พระโยคาวจร

ทำรากของขันธ์ ๕ ให้ขาดแล้วดำรงอยู่ พึงเห็นเหมือนเวลาที่บุรุษเผาพืช

ให้เป็นเขม่า. เวลาที่พระขีณาสพ ไม่ถือปฏิสนธิในภพใหม่ เพราะดับขันธ์

โดยที่ขันธ ์ ๕ ซ่งึ มีรากขาดแล้ว ไมป่ ฏิสนธิต่อไป เพราะดับความสืบต่อแห่ง

อุปาทินนกสังขารได้แล้ว พึงทราบเหมือนเวลาที่พืชถูกเขาโปรยไปที่ลมแรง

หรือลอยไปในแม่น้ำ ทำให้ไม่หวนกลับมาได้อีก.

บทว่า โมหชํ วาปิ วิทฺทสุ๑ ความว่า ผู้ไม่รู้ (ทำกรรม) แม้ที่

เกิดแต่โมหะ มีคำอธิบายที่ท่านกล่าวไว้ ดังนี้ว่า เขาไม่รู้ คือ เป็นอันธพาล

ทำกรรมที่เกิดแต่โลภบ้าง เกิดแต่โทสะบ้าง เกิดแต่โมหะบ้าง กรรมใดที่เขา

กระทำอยู่เช่นนี้ กระทำแล้ว น้อยก็ตาม มากก็ตาม. บทว่า อิเธว ตํ เวทนียํ

ความว่า กรรมนั้นเป็นกรรมที่คนพาลนั้น จะพึงได้เสวยในโลกนี้ คือ ใน

อัตภาพของตนนี้แหละ อธิบายว่า กรรมนั้นจะให้ผลในอัตภาพของเขานั่น

แหละ.๒

๑. ปาฐะว่า โมหชํ วาปิ วิทฺทสุ ในบาลีและฉบับพม่าเป็น โมหชญฺจาปิวิทฺทสุ.

๒. ปาฐะว่า ตสฺเสว อตฺตภาเว จ วิปจฺจติ ฉบับพม่าเป็น ตสฺเสว ตํ อตฺตภาเว วิปจฺจติ

แปลตามฉบับพม่า.

บทว่า วตฺถุํ อญฺญํ น วิชฺชติ ความว่า ไม่มีสิ่งอื่นเพื่อประโยชน์

แก่การรับผลของกรรมนั้น. เพราะกรรมที่คนหนึ่งทำไว้ จะให้ผลในอัตภาพ

ของอีกคนหนึ่งไม่ได้.๑

บทว่า ตสฺมา โลภญฺจ โทสญฺจ โมหญฺจาปิ วิทฺทสุ ความว่า

เพราะฉะนั้น ภิกษุใดเป็นผู้รู้ คือเป็นผู้มีปัญญา ได้แก่เป็นบัณฑิต ย่อมไม่

ทำกรรมนั้นแยกประเภท มีกรรมเกิดแต่ความโลภเป็นต้น ภิกษุนั้น ผู้ยังวิชชา

ให้เกิดขึ้นอยู่ พึงละทุคติทุกอย่างได้ คือ เมื่อทำวิชชาคือพระอรหัตมรรค

ให้เกิดขึ้น จะละทุคติทุกอย่างได้. นี้เป็นหัวข้อ (ตัวอย่าง) แห่งเทศนาเท่านั้น

ส่วนพระขีณาสพนั้น แม้สุคติก็ละได้ทั้งนั้น. แม้ในคำที่ตรัสไว้ว่า ตสฺมา

โลภญฺจ โทสญฺจ ดังนี้ พึงทราบว่า ทรงแสดงถึงกรรมที่เกิดแต่โลภะ

และเกิดแต่โทสะเหมือนกัน โดยหัวข้อ คือ โลภะ และโทสะ ทั้งในพระสูตร

ทั้งในพระคาถา พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะไว้ โดย

ประการดังกล่าวมาแล้วนี้แล.

จบอรรถกถานิทานสูตรที่ ๔